ศิลปะพื้นบ้านของภาคอีสานที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในช่วงเทศการบุญประเพณีทั้ง 12 เดือน อย่างฮีต 12 คอง 14 เมื่องานบุญในตอนเช้าเสร็จสิ้น ในยามค่ำคืนชาวอีสานจะหามหรสพมาร่วมสมโภชให้งานมีความสนุกสนานและยิ่งใหญ่ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งชาวอีสานรู้จักกันเป็นอย่างดี นั่นก็คือ “หมอลำ”
ในสมัยก่อนหมอลำจะเน้นลำเรื่องที่เป็นนิทานสอนใจ หรือเล่าเรื่องตามนิทานพื้นบ้าน เน้นร้องลำ ไม่เน้นร้องเพลงเหมือนปัจจุบัน แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปหมอลำจึงปรับตัวให้เข้ากับโลกและความต้องการของคนดูมากขึ้น เน้นให้การแสดงมีความกระชับ เพลงที่นำมาร้องประกอบกับงานโชว์ จึงต้องเป็นเพลงที่อยู่ในกระแสนิยม หมอลำแทบทุกคณะทุ่มเงินลงทุนพัฒนาวงให้มีความโดดเด่น
หมอลำที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันถือว่าเป็นวงหมอลำที่มีชื่อเสียง มีเอกลักษณ์ ผู้คนในภาคอีสานให้ความนิยมกันมาก หมอลำแต่ละคณะจะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป ทั้งทำนองลำ รูปแบบการแสดงโชว์ เรียกได้ว่ามีเสน่ห์ที่เป็นของใครของมัน สำหรับทำนองของหมอลำจะแบ่งได้หลายทำนอง เช่น ทำนองของแก่น, ทำนองกาฬสินธุ์-สารคาม แต่ทำนองที่ผู้คนให้ความนิยมฟังกันมากในปัจจุบันเป็นทำนองของแก่น เพราะฟังง่าย ความหมายเข้าใจได้ไม่ยาก
รูปแบบวงหมอลำมีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย เข้าถึงโซเชียลกันมากขึ้น มีการโฆษณา การโปรโมทและการเข้าถึงกลุ่มผู้ชม ทุกคณะจะต้องคิดโชว์การแสดงที่นำเสนอจุดเด่นและเอกลักษณ์เฉพาะวง ในยุคที่เทคโนโลยีเดินหน้าไปไกล คณะหมอลำต่างๆ จำเป็นจะต้องหาวิธีการที่ทำให้วงของตัวเองอยู่รอด ทั้งการใช้จอ LED เข้ามาเพื่อให้เกิดความสวยงามของโชว์และเพิ่มความทันสมัย แตกต่างจากเมื่อก่อนที่ใช้ผ้าเป็นฉากเท่านั้น ในบางคณะมีการใช้ระบบไฮโดริก (Hydraulic) และสลิงมาใช้ประกอบการแสดง การลงทุนในระบบ แสง สี เสียงที่ต้องใช้เงินหลักล้าน ทั้งหมดทั้งมวลนี้เพราะหมอลำนั้นนับเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งที่มีการแข่งขันสูง หากไม่ลงทุนปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยก็ไม่สามารถจับใจคนดูและนำพาวงให้อยู่รอดได้
ต่อให้ยุคสมัยจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปอีกสักกี่ปี แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหมอลำจะยังคงอยู่คู่กับชาวอีสานไปทุกยุคทุกสมัย อาจมีการเปลี่ยนไปบ้างตามสมัยนิยม แต่เอกลักษณ์การร้องลำ คำกลอนต่างๆ จะยังคงอยู่คู่กับหมอลำเป็นมรดกและวัฒนธรรมของชาวอีสานตราบนานเท่านาน
“หมอลำมีตำนาน ภาคอีสานมีที่มา ทอดผ่านการเวลา เคียงคู่มากับเสียงแคนดอกคูน” (เพลงม่วนซื่นโฮแซว - หมอลำคณะเสียงอีสาน)