มาเยี่ยมมายาม อีสานงานบุญ

มาเยี่ยมมายาม อีสานงานบุญ

ขึ้นชื่อว่า “อีสาน” ที่ซึ่งมีความหลากหลายในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหารการกิน การละเล่นพื้นบ้าน รวมถึงภาษาประจำถิ่น และที่ขาดไม่ได้คืองานบุญประเพณีทั้ง 12 เดือน หรือที่ชาวอีสานเรียกกันติดปากว่า ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ ซึ่งชาวภาคอีสานจะมีการทำบุญตลอดทั้งปี เป็นการปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของชาวอีสาน สำหรับคอลัมน์นี้ผู้เขียนจะหยิบยกประเพณีเด่นๆ ที่สำคัญจากทั้ง 12 เดือนมานำเสนอ นั่นคือ ประเพณีบุญผะเหวด
      บุญผะเหวดหรือบุญมหาชาติ ที่ชาวอีสานจะจัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี โดยชาวอีสานเรียกประเพณีนี้ว่า บุญเดือนสี่ ซึ่งเป็นบุญการบริจาคทานที่ยิ่งใหญ่ บุญแห่งมหาทานบารมีของพระเวสสันดรที่กลับชาติมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่น มีการจัดงานยิ่งใหญ่ตระการตารอบบริเวณบึงพลาญชัย ยามเมื่อนึกถึงบุญผะเหวดจะต้องมาที่จังหวัดนี้เท่านั้น
      บ.ม่วงลาด ต.ม่วงลาด อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด เมื่อเข้าเดือนมีนาคม ชาวบ้านจะมีการประชุมเกี่ยวกับกำหนดวันจัดงานบุญผะเหวด ซึ่งจะจัดขึ้นต่อเนื่องกันเป็นเวลา 3 วัน โดยวันและเวลานั้นจะดูตามความเหมาะสมและความสะดวกของคนในหมู่บ้าน หลังจากตระเตรียมหาวันจัดงานแล้ว ต่อมาคือการบอกบุญแก่ญาติๆ บ้านใกล้เรือนเคียง รวมไปถึงหมู่บ้านอื่นๆ ในละแวกเดียวกัน ด้วยวิธีการเชิญชวนแบบปากต่อปาก ในวันเดียวกันนี้จะมีอีกหนึ่งกิจกรรมที่สำคัญคือการจับสลากกัณฑ์เทศว่าครอบครัวไหนจะได้กัณฑ์ใด ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่า ชื่อของกัณฑ์เทศสามารถทำนายดวงตลอดทั้งปีของครอบครัวนั้นได้ เช่น กัณฑ์นคร ชาวบ้านเชื่อว่าครอบครัวที่จับสลากได้กัณฑ์นี้จะมีชีวิตที่สุขสบายยิ่งขึ้น
      วันแรกของการจัดงาน เรียกว่าวันเตรียม ชาวบ้านจะเริ่มห่อข้าวต้ม ทั้งข้าวต้มมัด ข้าวต้มแดก (ขนมหวานชนิดหนึ่ง) ข้าวต้มถั่วลิสง ห่อขนมหมกไส้ถั่วเหลือง ไส้เค็มและห่อสาคู รวมถึงการเตรียมวัตถุดิบในการประกอบอาหารเพื่อให้ญาติๆ ที่จะมารวมทำบุญในวันที่ 2 นอกจากนี้บ้านแต่ละหลังจะจัดเตรียมสถานที่และทำความสะอาดบริเวณบ้านของตัวเองเพื่อต้อนรับแขกที่จะมาเยือนด้วย
      วันที่ 2 เรียกว่าวันโฮมหรือวันรวม โดยเจ้าของบ้านที่มีงานบุญจะตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อมาประกอบอาหารไว้รอแขก ซึ่งอาหารที่ทำก็เป็นเมนูง่ายๆ ที่ตั้งใจเตรียมไว้ เช่น ลาบวัว ลาบหมู ต้มเนื้อวัว ต้มเป็ด ต้มไก่ และข้าวปุ้น หรือขนมจีนน้ำยา ซึ่งถือว่าเป็นเมนูที่ขาดไม่ได้ในงานบุญผะเหวด เมื่อถึงช่วง 6 โมงเช้า ญาติๆ จะเริ่มทยอยมาที่บ้านเพื่อโฮมบุญ โดยทุกคนจะมาพร้อมข้าวสาร 1 ถ้วยเล็ก และเงินร่วมทำบุญสมทบเป็นค่าอาหารให้กับเจ้าบ้าน ส่วนเจ้าบ้านนั้นจะตอบแทนน้ำใจด้วยอาหารที่ได้เตรียมไว้ หากใครมีเวลาว่างก็นั่งพบปะหารือพร้อมกับรับประทานอาหารร่วมกัน หากใครที่รีบกลับหรือมีธุระ หลังจากร่วมทำบุญเจ้าบ้านจะห่อกับข้าวให้เพื่อตอบแทนน้ำใจ เมื่อถึงช่วง 4 โมงเย็น ชาวบ้านจะรวมตัวกันเพื่อแห่ดอกไม้ มีทั้งดอกกล้วยน้อย ดอกพะยอมและดอกลำดวน โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้นำพิธี ส่วนชาวบ้านจะถือดอกไม้เดินแห่ไปยังท่าลำน้ำชีเพื่อทำความสะอาดดอกไม้ และจะแห่เข้าไปยังศาลาวัดก่อนจะนำไปประดับไว้บนธรรมาสน์ที่จะใช้ประกอบพิธีในวันรุ่งขึ้น
      วันที่ 3 เรียกว่า วันแห่ข้าวพันก้อน ซึ่งพิธีเริ่มตั้งแต่ตี 3 จะมีชาวบ้านนำข้าวพันก้อนมาแห่รอบศาลาเพื่อบูชากัณฑ์เทศน์ ในความหมายข้าวพันก้อนของชาวบ้านนั้นคือข้าวเหนียว เนื่องจากคาถาในพระเวสสันดรมี 1 พันคาถา จึงต้องมีข้าวเหนียวนำมาประกอบพิธีจำนวน 1 พันก้อนตามความเชื่อ หลังจากที่เสร็จสิ้นพิธีนี้ พระเจ้าอาวาสประจำหมู่บ้านจะขึ้นเทศน์ก่อนเป็นลำดับแรก ตามด้วยพระลูกวัดและพระที่เชิญมาจากหมู่บ้านใกล้เคียง ส่วนชาวบ้านจะนำกัณฑ์เทศน์ที่เตรียมไว้ เช่น ข้าวต้มที่ห่อไว้ มะพร้าวอ่อน ธูป เทียน หรือสิ่งของจำเป็นสำหรับพระ เพื่อถวายแก่พระสงฆ์ที่ได้เทศน์กัณฑ์ของตัวเองตามที่จับสลากไว้ในช่วงบ่าย จะมีการแห่กัณฑ์หลอนไปยังวัดภายในหมู่บ้าน โดยชาวบ้านจะนำเงินปัจจัยมาทำเป็นต้นกัณฑ์หลอน อาจทำเป็นครอบครัวหรือรวมเป็นต้นเดียวกัน ก่อนจะแห่ไปตามถนนพร้อมวงกลองยาวที่บรรเลงเพลงอย่างสนุกสนาน ชาวบ้านจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนแห่ต้นกัณฑ์หลอนเข้าวัดไปจนถึง 3 ทุ่ม ก็ถือว่าเสร็จสิ้นการทำบุญผะเหวดแล้ว
      บุญผะเหวดนอกจากจะเป็นการบริจาคทานครั้งใหญ่แล้ว ยังชี้ให้เห็นถึงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การแบ่งปันและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของผู้คนในชุมชน ต่างจากสังคมเมืองที่อาจสัมผัสถึงความสุขแบบนี้ได้ยาก ในขณะที่ชาวอีสานกลับมองว่านี่คือความคุ้นตาและเป็นภาพบรรยากาศที่สามารถหาได้ง่ายในพื้นที่แห่งความหลากหลายเช่นนี้ ดังคำอีสานที่ว่า “อีสานบ้านเฮา ฮักแพง แบ่งปัน”

Top