แม่น้ำที่มีความยาวเกือบ 4,900 กิโลเมตร มีต้นกำเนิดจากการละลายของน้ำแข็งและหิมะบริเวณเทือกเขาในประเทศจีน ตามข้อมูลจาก WWF Thailand มีความหลากหลายทางชีวภาพ หล่อเลี้ยงชีวิตหลายสิบล้านคนตั้งแต่จุดกำเนิด เรากำลังพูดถึงแม่น้ำสายสำคัญที่มีความยาวติดหนึ่งในสิบอันดับของแม่น้ำที่ยาวที่สุดในโลก พาดผ่านหลายประเทศในทวีปเอเชีย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาถึงตรงนี้คงพอจะเดาได้บ้างแล้วว่าแม่น้ำสายสำคัญนี้มีชื่อว่า แม่น้ำโขง
แม่น้ำโขงไหลพาดผ่านประเทศไทย ตั้งแต่จังหวัดเชียงราย ไหลกั้นเป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างประเทศลาวกับประเทศไทย ผ่าน 6 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มจากจังหวัดเลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี รวมระยะทางทั้งหมด 976 กิโลเมตร เป็นทั้งแหล่งน้ำ แหล่งโปรตีน แหล่งพันธุ์ปลา พันธุ์พืชหลากหลายสายพันธุ์ และเป็นแหล่งแห่งความมั่นคงทางอาหาร ผู้คนจำนวนมากพึ่งพาอาศัยระบบธรรมชาตินี้ในการดำรงชีวิต ทำให้แม่น้ำโขงกลายเป็นหนึ่งในประเพณีวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชาวอีสาน
แต่สถานการณ์น้ำโขงในปัจจุบันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แม่น้ำโขงส่งสัญญาณบอกถึงความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติที่กำลังเกิดขึ้น เรานั่งอยู่บนแพไม้เล็กๆ ของกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน เขตเชียงคาน จังหวัดเลย ที่ในช่วงปกติคงลอยโตงเตงอยู่เหนือผิวน้ำแทนที่จะตั้งติดกับพื้นดินอย่างในเวลานี้ เราทอดสายตามองภาพแม่น้ำโขงเบื้องหน้าที่กำลังแห้งขอดจนมองเห็นเนินดินทรายขณะที่รับฟังคำบอกเล่าจากลุงยูร ชาวประมงน้ำจืดเขตเขียงคานผู้ดูแลที่นี่
“เมื่อก่อนปลามันเยอะ คนหาปลาก็ไม่เยอะ ออกหาปลาไม่ถึงชั่วโมงก็ได้แล้ว เดี๋ยวนี้หาทั้งวันไม่ได้ก็มี หรือบางคนเป็นอาทิตย์ไม่ได้สักตัวก็มี” ลุงยูรเล่าเสียงเบา จุดรวมสายตาของเราคือพื้นน้ำแห้งขอดตรงหน้า “การหาปลายากกว่าเมื่อก่อนมาก ถ้าเป็นปลาตัวเล็กพอจะหาได้บ้าง แต่ปลาตัวใหญ่แทบไม่ได้เลย”
ลุงยูรชี้ชวนให้ดู “นาม” อุปกรณ์ทำประมงพื้นบ้านที่ใช้จับปลาใหญ่อย่างปลาบึกและปลาเริม อันเป็นผลผลิตจากชาวบ้านที่ทำขึ้นมาเพื่อใช้เอง มันแขวนอยู่อย่างนั้นราวกับจะหยุดการใช้งาน หลักฐานของการใช้งานครั้งล่าสุดคือฝุ่นที่เกาะเขรอะจับแน่น กับคำเล่าของลุงยูรที่บอกว่า หลังจากจับปลาเริมตัวสุดท้ายได้เมื่อ 20 ปีก่อน นามก็ถูกแขวนไม่ได้ใช้งานอีก ยิ่งไม่ต้องพูดถึงปลาบึกที่ไม่พบเห็นอีกเลยตั้งแต่ปี 2532
การทำประมงเริ่มวิกฤตเมื่อมีการหายไปของปลาบางสายพันธุ์ แต่ไม่นานมานี้การเกิดขึ้นมาของเขื่อนไซยะบุรีกลับเพิ่มผลกระทบกับชาวประมงพื้นบ้านเชียงคานไปอีกระดับ ไม่เพียงแค่ชาวประมงที่ยึดอาชีพหาปลาแต่ควบรวมไปถึงประชาชนที่ใช้ชีวิตอยู่ริมแม่น้ำโขงด้วย
แหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าในอนาคตอาจเอื้อผลประโยชน์ให้กับใครสักคน แต่ไม่ได้รวมชาวบ้านที่ใช้ชีวิตอยู่กับแม่น้ำโขงหลายชีวิต เมื่อกระแสน้ำเกิดความผันผวน การไหลของแม่น้ำไม่เป็นไปตามการควบคุมของธรรมชาติ นั่นหมายถึงชีวิตของคนริมโขงต้องถูกควบคุมด้วยเช่นกัน “เขาคิดอยากปล่อยน้ำมาก็ปล่อย ถ้าเขาปล่อยน้ำมาเยอะน้ำก็ขึ้น อุปกรณ์หาปลาอย่างมอง หรือดางที่ไปดักปลาไว้ก็เสียหาย เพราะเราเก็บไม่ทัน” ความเดือดร้อนที่ลุงยูรตัวแทนกลุ่มประมงได้พบเจอถูกถ่ายทอดออกมาผ่านคำพูด
ดูเหมือนทุกอย่างคงจะไม่เลวร้ายไปกว่านี้ แต่เกษตรริมฝั่งโขงที่เป็นอีกหนึ่งอาชีพของชาวเชียงคานกลับได้รับผลกระทบไปด้วย จากการไหลของกระแสน้ำที่ธรรมชาติไม่ได้เป็นผู้กำหนด “เรากำหนดไม่ได้ว่าน้ำจะมาตอนไหน แต่ก่อนก็พอกำหนดเวลาได้ ช่วงเดือนตุลาคมน้ำจะลง เราจะสามารถปลูกผักได้ แต่ตอนนี้ไม่ได้เป็นแบบนั้น ต้องดูก่อนว่ามันจะแห้งลงตอนไหนถึงจะได้ปลูก” จากแพกลุ่มประมงพื้นบ้าน เรามองขึ้นไปยังฝั่ง เห็นพืชผักที่ชาวบ้านปลูกเอาไว้รอเก็บผลผลิตเมื่อถึงเวลา
ชาวประมงน้ำจืดวัยกลางคนชี้ให้ดูจุดหาปลาที่อยู่ไกลออกไปแต่มองเห็นได้ในระยะสายตา การหาปลาเคยเป็นอาชีพหลักของคนที่นี่ ซึ่งนั่นคือเมื่อก่อนการจับปลาสามารถสร้างรายได้ให้พอสมกับค่าเหนื่อย แต่เมื่อปลาเริ่มหายากการทำอาชีพอื่นเสริมคือทางเลือกของหลายคน รวมถึงลุงยูรด้วย งานรับจ้างทั่วไป รับเหมาก่อสร้าง ทำสวนปลูกผัก กลายเป็นอาชีพเสริมที่ทำควบคู่ไปกับการทำประมง เพราะพวกเขาไม่ได้คิดจะเลิกการเป็นประมง
การส่งสัญญาณบอกถึงความเสื่อมโทรมทางระบบนิเวศของธรรมชาติ ตัดสินไม่ได้ว่าสาเหตุมาจากอะไรบ้าง แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยเมื่อเข็มทิศชี้หนักไปทางมนุษย์ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ผลกระทบที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งก็มาจากน้ำมือมนุษย์อยู่ดี