สุภาษิตไทยในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยฝุ่นและเชื้อโรค คงไม่มีสุภาษิตไทยคำไหนจะเข้ากับสถานการณ์ของประเทศได้เท่าคำนี้ “ข้าวยาก maskแพง” ปรับเปลี่ยนเล็กน้อยให้ทันสมัยทันเหตุการณ์ คอลัมน์เปิดกะโป๋ฉบับนี้ขอนำเสนอวิกฤตโรคร้ายกับผู้สูงวัยในประเทศมาเล่าสู่กันฟัง โควิด-19 ที่ระบาดหนักพอๆ กับการทำงานหนักของหลายภาคส่วนที่ต้องการหยุดยั้งมหันตภัยโรคร้ายนี้ แม้ว่าหมอ พยาบาล และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจะทำงานกันอย่างเต็มความสามารถ แต่สุดท้ายสถานการณ์ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น
มิหนำซ้ำข้าวของที่จำเป็นหลายอย่างกลับขาดตลาด หน้ากากอนามัยดูเหมือนจะกลายเป็นของล้ำค่าแค่เพียงชั่วข้ามคืน ซึ่งมีไม่เพียงพอต่อการความต้องการของประชาชน ลำพังคนหนุ่มสาวก็ยังพอพาตัวเองให้รอดปลอดภัยจากเชื้อโรคร้ายนี้ไปได้ เพราะร่างกายยังคงมีภูมิต้านทานมากกว่าคนเฒ่าคนแก่ที่ไม่รู้ว่าจะตายวันตายพรุ่ง ร่างกายที่ใกล้โรยราไปเต็มที ผสมโรงกับการเจอเชื้อโรคร้ายที่แม้แต่หน้ากากอนามัยป้องกันตัวเองเบื้องต้นก็ยังไม่มี สิทธิขั้นพื้นฐานของการเป็นคนไทยนั้นดูเหมือนมีน้อยนิดเมื่อเทียบเท่ากับความเป็นประชากรในเมืองฝรั่ง
จากการศึกษาข้อมูลของ United Nations World Population Ageing พบว่า ประเทศไทยของเราได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว และในปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ แม้ว่าประเทศไทยจะมีการแจกจ่ายเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุในทุกเดือน แต่ในประเทศที่ข้าวยากหมากแพงและวิกฤตเชื้อโรคร้ายที่กำลังระบาดอยู่ขณะนี้ นอกจากปัจจัยด้านเงินที่สำคัญแล้ว ปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการรักษาพยาบาล เรามีบัตรทอง 30 รักษาทุกโรค แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะครอบคลุมไปทุกโรคตามชื่อบัตร โควิด-19 กับค่าตรวจที่เกิน 19 บาท ไปหลายร้อยหลายพันเท่า คนมีแรงก็ทำงานต่อสู้ชีวิต หาเงินไป รักษากันไป แต่ผู้สูงอายุที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ไหนจะต้องทำงานงกๆ เลี้ยงดูตัวเองเพราะไม่มีลูกหลานจะเอาเรี่ยวแรงเอาเงินจากไหนมาจ่ายค่าตรวจจค่ารักษา ลำพังเงินที่ได้จากการทำงานหนักแค่พอจะเลี้ยงชีพไปวันๆ ยังแทบจะไม่พอ
“หนู ช่วยยายซื้อหน่อยลูก”
“ช่วยอุดหนุนยายหน่อยลูก วันนี้ยายยังขายไม่ได้เลยสักอัน”
ในทุกครั้งที่เดินไปบนท้องถนนแล้วพบว่ามีคนเฒ่าคนแก่เดินเร่ขายของไปตามริมฟุตบาท ตามตลาดนัดนั่งขอทานอยู่เต็มไปหมด ถ้าคุณภาพชีวิตเราดีพอ เราจะไม่มีวันได้เห็นคนเหล่านี้หอบสังขารที่ใกล้โรยราเหนื่อยล้าค่อนชีวิตมาทำอะไรแบบนี้ เสมือนว่าผู้สูงอายุกลายเป็นเครื่องหมายการค้าที่ถูกใช้เพื่อเรียกร้องความสงสารจากคนที่พบเห็น แน่นอนว่าสังคมไทยเรานั้นเป็นสังคมของคนมีน้ำใจ อะไรช่วยเหลือกันได้ก็พร้อมจะหยิบยื่นน้ำจิตน้ำใจให้กัน แต่มันจะดีกว่าไหม หากเรามีสวัสดิการที่เป็นรูปธรรม มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ มีความมั่นคง และไม่ต้องให้ผู้สูงอายุออกมาตากแดกตากลม เสี่ยงกับฝุ่น เสี่ยงกับโรค ที่นับวันดูจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ผิดกับคุณภาพชีวิตที่ดูจะลดน้อยถอยลง
เมื่อลองเปรียบเทียบกับประเทศที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลอย่างประเทศญี่ปุ่น ที่มีมาตรการออกกฎหมายให้บริษัทเอกชนรับผู้สูงอายุเข้าทำงาน ส่วนหนึ่งเพราะผู้สูงอายุบางท่านไม่ได้มีลูกหลานดูแล บวกกับผู้สูงอายุบางท่านยังพอมีแรงที่จะสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้บ้าง เห็นได้ชัดว่างานที่ผู้สูงอายุในต่างประเทศได้รับโอกาสทำนั้นค่อนข้างดีกว่าประเทศไทยของเรามาก ต่างประเทศให้การดูแลผู้สูงอายุเป็นเหมือนประชาชนทั่วไป แม้ว่าจะมีสวัสดิการบางอย่างที่ได้รับมากกว่าคนหนุ่มสาว แต่ด้วยเรื่องของช่วงอายุที่ทำให้สวัสดิการที่ได้รับนั้นแตกต่างกันไป เพราะผู้สูงอายุไม่ใช่เครื่องหมายการค้าที่นำมาเรียกร้องความสงสารจากคนที่ได้พบเห็น
ส่วนในประเทศไทยได้ออกกฎหมายสำหรับผู้สูงอายุตามมาตรา 11 ไว้ว่าในด้านการแพทย์และสาธารณสุขมีช่องทางและสะดวกรวดเร็วในการรับการรักษา มีคลินิกสำหรับผู้สูงอายุในด้านการประกอบอาชีพ มีการให้คำปรึกษาด้านการประกอบอาชีพ หาอาชีพให้ทำ ให้การฝึกอาชีพ นอกจากนี้ยังมีการเน้นการรวมกลุ่มผู้สูงอายุเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมไปถึงมาตราการในการอำนวยความสะดวกในการเดินทางสาธารณะ งดการเก็บเงินค่าเดินทางจากผู้สูงวัย และยกเว้นค่าเข้าชมตามสถานที่ต่างๆ ของรัฐ
ในสภาวะฉุกเฉินแบบนี้ mask ก็หายาก ที่หาได้ราคาก็เอื้อมแทบไม่ถึง ไวรัสร้ายระบาดไปทั่วทั้งประเทศ แค่เพียงเสี้ยววินาทีหนึ่งที่เราจะย้อนกลับมาดูแลประชากรที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องภายในประเทศอย่างผู้สูงอายุ เพื่อเตรียมรับมือกับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในไม่ช้า มาตรการที่ได้กำหนดขึ้นมายาวนาน หากในปีนี้ และในปี 2564 ที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้า สามารถปฏิบัติตามได้จริง เราคงไม่ต้องเห็นข่าวตามโทรทัศน์ว่ามีแม่เฒ่าเย็บหน้ากากอนามัยใช้เอง ผู้สูงอายุเร่ขายของเลี้ยงชีพ หยุดเครื่องมือการค้าที่มาจากความสงสารและสังขารที่ใกล้จะร่วงโรยของไม้ใกล้ฝั่งเหล่านี้เสียที