วิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมในช่วงที่ผ่านมานั้นเป็นเหมือนกับเคราะห์ซ้ำกรรมซัดที่ดูเหมือนจะกระหน่ำโจมตีไม่หยุดหย่อน ทั้งไฟป่ามหากาฬที่ออสเตรเลียสร้างความเสียหายครั้งใหญ่ กินระยะเวลายาวนานตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 มาจนถึง 7 มกราคม 2563 สัตว์ป่า 480 ล้านตัวได้รับผลกระทบ ผู้คนจำนวนมากต่างได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ มิหนำซ้ำยังส่งผลกระทบไปทั่วทั้งโลก กระตุ้นวิกฤตการณ์ภาวะโลกร้อนให้ชัดเจนต่อสายตาชาวโลกมากยิ่งขึ้น เพราะเหตุการณ์ในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศที่อาจทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นถึง 0.5 องศาเซลเซียส แต่ไฟป่าไม่ใช่ปัญหาเดียวที่เกิดขึ้น ในช่วงระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกันนั้น โลกของเรายังเผชิญกับสภาพภูมิอากาศที่ย่ำแย่ ร้อนเกินไป หนาวเกินไป หาความพอดีไม่ได้ และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากการละลายของน้ำแข็งอันเนื่องมาจากอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น การสูญพันธุ์ของสรรพสัตว์และสิ่งมีชีวิตที่ใกล้เข้ามา หรือแม้แต่ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นแทบทุกวันในทั่วทุกมุมโลก หรือแม้แต่การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสที่สามารถปลิดชีวิตของเหล่าผู้คนที่ทำตัวราวกับว่าอยู่ไม่เป็นบนโลกใบนี้
ประเทศไทย ประเทศที่หลายๆ คนมองว่าเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ชาวต่างชาติเหล่านั้นมองไม่ผิด ประเทศไทยเคยเต็มไปด้วยป่าไม้และสิ่งแวดล้อมที่สะอาดบริสุทธิ์ แต่หลายสิบปีมานี้ ความเจริญก้าวหน้าและเทคโนโลยีต่างๆ ที่คนไทยรับเอามานั้น ได้เข้ามามีบทบาทที่นอกเหนือไปจากการสร้างความสะดวกสบายและคุณประโยชน์ แต่กลับทำหน้าที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและลดอาณาเขตบริเวณของป่าไม้ลง ด้วยเหตุนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ไทยก้าวสู่วิกฤตสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน ซึ่งกินระยะเวลามายาวนาน นับตั้งแต่วันแรกที่รับเอาเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้ โดยลืมคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่อยู่คู่กับเรามาเป็นเวลานานกว่าหลายชั่วอายุคน
วิกฤตสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยนั้น นอกจากปัญหาของเรื่องมลภาวะอย่างฝุ่น PM 2.5 ที่ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นวิกฤตด้านสาธารณสุข ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนแล้ว ยังมีเรื่องของภัยแล้งที่ดูเหมือนจะสร้างผลกระทบให้กับประเทศไทยอย่างถ้วนหน้า ซึ่งนายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินหรือภัยแล้ง 16 จังหวัด ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ตอนบน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ประสบภัยแล้งถึง 7 จังหวัด ได้แก่ นครพนม นครราชสีมา บึงกาฬ หนองคาย บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม ซึ่งภัยแล้งในครั้งนี้มีความรุนแรงมากเป็นอันดับสองในรอบ 40 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างออกมาจัดการแก้ปัญหาดังกล่าวกันชุลมุน ทั้งการเร่งแจกจ่ายน้ำกินน้ำใช้ การขุดบ่อบาดาล และการจัดทำมาตรการสำหรับการใช้น้ำ เพื่อกักเก็บน้ำให้พอใช้สำหรับทั้งภาคการเกษตรและการอุปโภคบริโภค ไม่ใช่แค่ประเทศไทย ไม่ใช่แค่ภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง แต่ทั่วทั้งโลกกำลังประสบกับสภาพสิ่งแวดล้อมที่ทรุดโทรมลงเรื่อยๆ จากฝีมือผู้อยู่อาศัยอย่างมนุษย์ เพราะหากมองย้อนกลับไป สภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ในปัจจุบัน คือผลจากการกระทำของเราเอง
ผู้คนสมัยนี้ล้วนแต่อยู่ไม่เป็น ไม่มีความประณีประนอม ประคบประหงมดูแลสิ่งแวดล้อมที่อยู่คู่กับเรามาหลายชั่วอายุคน ไม่มีความตะหนักว่าตัวเรานั้นเป็นเพียงผู้อยู่อาศัย ที่จะต้องเคารพและเกรงใจสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติที่อยู่คู่กับโลกใบนี้มานานกว่าเรามากโข จะมีก็เพียงแต่เสียงเล็กๆ ของคนกระจุกหนึ่งที่พยายามตะโกนขอความช่วยเหลือให้กับสิ่งแวดล้อมที่กำลังจะตายอย่างช้าๆ ในขณะที่ผู้อยู่อาศัยอย่างมนุษย์คิดแต่จะหาทางกอบโกยประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติด้วยวิธีการที่สะเพร่าโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา การระเบิดภูเขาทำเหมือง การล่าสัตว์ที่ขาดความพอดี นำไปสู่หายนะแห่งการสูญพันธุ์ เมื่อคนอยู่ไม่เป็น สิ่งแวดล้อมก็อยู่ไม่ได้ และเมื่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นเหมือนพลังและบ่อเกิดแห่งชีวิตไม่มีที่ให้อยู่ แล้วคนอย่างเราๆ ที่ต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมเป็นที่ซุกหัวนอนจะอยู่ได้อย่างไร