[บทความพิเศษ] ประกายไฟในกองฟาง

[บทความพิเศษ] ประกายไฟในกองฟาง

การลุกฮือของนิสิต นักศึกษา จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเป็นสิ่งที่น่าจับตามองในช่วงหนึ่ง การลุกขึ้นมาต่อสู้อย่างพร้อมเพรียงด้วยอุดมการณ์ที่คล้ายคลึงกัน มีความต้องการที่ตรงกันคือความยุติธรรมและประชาธิปไตยที่ไม่ใช่เพียงคำพูดขายฝัน
   ขณะที่สถาบันการศึกษาทั้งมหาวิทยาลัยและโรงเรียนมัธยมทั่วประเทศ ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในรูปแบบแฟลชม็อบ (Flash Mob) เพื่อแสดงจุดยืน มหาวิทยาลัยมหาสารคามก็เป็นหนึ่งในนั้น การชุมนุมอย่างสันติเกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยโดยมีกลุ่มแนวร่วมนิสิตมมส.เพื่อประชาธิปไตย เป็นฟันเฟืองหลักขับเคลื่อนกิจกรรมทางการเมืองในครั้งนี้
    จุดเริ่มต้นของการรวมกลุ่มเกิดขึ้นในวันรำลึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม เมื่อกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์เช่นเดียวกันเข้ามาพบเจอกันในรั้วมหาวิทยาลัย จากนักกิจกรรมที่อยากทำกิจกรรมเกี่ยวกับประชาธิปไตย หลังจากนั้นเพียงไม่นานเราเห็นแฟนเพจกลุ่มแนวร่วมนิสิตมมส.เพื่อประชาธิปไตยผ่านทางเฟซบุ๊ก (Facebook) นั่นถือเป็นการแสดงตัวตนอย่างเป็นทางการของกลุ่มขับเคลื่อนกิจกรรมการเมืองกลุ่มนี้
   มหาวิทยาลัยมหาสารคามไม่มีพื้นที่ free Space สำหรับทำกิจกรรมทางการเมือง ไม่มีกลุ่มกลางคอยประสาน จึงเกิดกลุ่มแนวร่วมนิสิตมมส.เพื่อประชาธิปไตยขึ้นมา ทั้งนี้เพื่อที่จะประสานงานกับกลุ่มแนวร่วมกลุ่มอื่นๆ และประชาสัมพันธ์ให้กับคนที่สนใจกิจกรรมทางการเมืองสามารถเข้ามาร่วมกิจกรรมร่วมกันได้
   การเปิดพื้นที่ทางการเมืองภายในมหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ของการตั้งกลุ่ม เพื่อรวบรวมนักต่อสู้ทางการเมืองมาร่วมต่อสู้ไปด้วยกัน อีกทั้งเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับมวลชนที่ไม่สามารถเข้าถึงข่าวสาร ให้มีความรู้ในเรื่องประชาธิปไตย รับรู้ถึงปัญหาของสังคมที่กำลังเกิดขึ้นและเห็นความสำคัญของสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค รวมไปถึงประชาธิปไตย
   “เราพยายามที่จะต่อสู้ทางความคิด ใช้กิจกรรมเป็นอาวุธในการผลักดัน ให้มวลชนและประชาชนรับรู้เรื่องประชาธิปไตย เราเชื่อในเรื่องของสิทธิ เสรีภาพ และความเป็นประชาธิปไตย เมื่อมวลชนมีความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนก็จะทำให้เกิดประชาธิปไตยแบบเต็มใบ” คำกล่าวหนึ่งของตัวแทนกลุ่มแนวร่วมมมส.เพื่อประชาธิปไตย
   แรงผลักดันในการขับเคลื่อนของพวกเขาคือ ความมุ่งหวังที่จะได้มาซึ่งประชาธิปไตยในแบบที่ไม่ใช่แค่คำเรียกระบอบการปกครอง การต่อสู้ การเผยแพร่อุดมการณ์ทางความคิดนี้เพื่อให้ผู้คนได้ตื่นตัว กล้าที่จะแสดงออก และมีส่วนร่วมกิจกรรมทางการเมืองมากขึ้น “เราอยากให้กลุ่มของพวกเราเป็นเหมือนประกายไฟ คอยจุดลงไปในเส้นฟาง และไหม้ลามไปทั่วทั้งกอง เกิดเป็นไฟแห่งการเปลี่ยนแปลง” หนึ่งในตัวแทนกลุ่มแนวร่วมฯ กล่าว
   การเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษา ไม่ใช่แค่กลุ่มแนวร่วมนิสิตมมส.เพื่อประชาธิปไตย ทั้งนี้เพื่อเรียกร้องสิ่งที่พวกเขาพึงมีและต่อต้านความไม่เป็นธรรมในความรู้สึก เรามองเห็นประวัติศาสตร์เมื่อครั้งอดีตซ้อนทับกับภาพที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เหตุการณ์คล้ายคลึงกันนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว หลายเหตุการณ์ถูกพูดถึงและกลายเป็นประวัติศาสตร์การเมืองที่สำคัญของประเทศไทย
   ปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนเช่นนี้ เราไม่ได้เห็นมานานมากแล้ว ครั้งสุดท้ายที่ได้เห็นคือ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งนับว่าเป็นการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาครั้งสำคัญที่ถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ไทย กระทั่ง ปี 2563 นี้เอง เราได้เห็นการเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองอย่างปรากฏการณ์แฟลชม็อบ (Flash Mob) ของกลุ่มนักเรียนและนิสิตนักศึกษา
   สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการตื่นตัวทางการเมืองของเยาวชนที่เราไม่ได้เห็นมาหลายสิบปี คนรุ่นใหม่หันมาให้ความสนใจเรื่องการเมืองมากขึ้นทำให้รู้ว่าเรื่องการเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

Top