ประเพณีการเล่นกลองเลง ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์มาตั้งแต่เกิด และยังดำเนินความสัมพันธ์กับชีวิตมาตลอด ดนตรีจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ซึ่งแทบแยกออกจากกันไม่ได้ นอกจากนี้ดนตรียังเกี่ยวข้องกับสังคมในแต่ละท้องถิ่นที่เรียกว่า ดนตรีพื้นบ้าน ซึ่งเป็นการถ่ายทอดและสืบเนื่องกันมา ดังนั้นดนตรีจึงมีความสัมพันธ์ต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน ทั้งในด้านการให้ความบันเทิงแก่คนในสังคม ทำให้ผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน ด้านการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ช่วงชีวิตของชาวบ้าน ซึ่งสามารถสะท้อนความคิดสร้างสรรค์ของบุคคลในระยะเวลาต่าง ๆ ที่แต่ละกลุ่มชนยังคงรักษาไว้และนิยมเล่นกันในปัจจุบัน ประเพณีกลองเลง มีมาตั้งแต่สมัยโบราณแลพไม่ได้มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เคยมีผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า กลองเลงทำด้วยไม้ประดู่ มีลักษณะเป็นกลองสองหน้า หุ้มด้วยหนังวัว หนังควาย กลองเลงใช้ตีในงานบุญมหาชาติ งานบุญพระเวสสันดร (บุญตูบ) เวลาตีใช้ไม้หามสองคน หันหน้าเข้าหากัน ตีคนละหน้าไปตามจังหวะ ตึมตึบ ตึมตึบ ตึมตึบ กลองเลงในภาษาโย้ย คำว่า "เลง" หมายถึงการเล่นในเวลากลางคืน การเล่นกลองเลง หมายถึงการใช้กลองตีเที่ยวเล่น ในเวลากลางคืนในคืนวันรวมของงานบุญมหาชาติ เช่นบุญตูบ บุญผาม บุญมหาชาติ โดยจะมีหนุ่มๆ นัดหมายกันมาเล่นตลอดทั้งคืน เพื่อขอบริจาคปัจจัย หรืออาหารจากทุกหลังคาเรือนรวบรวมเข้ากองบุญ ถ้าไม่เล่นจนสว่างจะถือเป็นกาลกิณี ซึ่งเครื่องดนตรีที่ใช้เล่นมี กลองใหญ่ 2 ตัว พังฮาด (ฆ้อง) กลองกิ่ง ฆ้องน้อย ฉิ่ง ฉาบ กระจับปี่ แคน การเล่นกลองเลงจะนิยมเล่นในก่อนวันรวมบุญ 1 วัน พอค่ำลงเวลาประมาณ 1 ทุ่ม ก็จะมีหัวหน้าไปชักชวนคนมารวมกัน แล้วก็จะพากันนำกลองเลงไปเล่นตามหมู่บ้านหรือชุมชนใกล้เคียง เพื่อแผ่ปัจจัย ข้าวต้ม ขนม สุรา สาโท เป็นต้น การเล่นกลองเลงจะเล่นไปเรื่อย ๆ ทุกหลังคาเรือน โดยจะมีหัวหน้าพาเซิ้งไปตามจังหวะ “โอ้ โฮ๊ะ โอ สา โอ้ โฮ๊ะ โอ ” ในสมัยก่อนการเล่นกลองเลงจะเล่นจนสว่าง แล้วนำเอาปัจจัยทั้งหลายไปถวายวัดในตอนเช้าของวันรวมบุญ จึงแยกย้ายกันกลับบ้าน เมื่อถึงเวลาประมาณ 9 – 10 โมงเช้า จะนำเอากลองเลงมาเล่นอีกหรือตีไปแต่ละตูบไปเรื่อย ๆ จนถึงเวลาแห่พระเวสสันดร แล้วจึงไปแห่พระเวสสันดรเข้าสู่วัด โดยจะมีการฟ้อนตามจังหวะกลองเลงทั้งชายหญิง เป็นประเพณีที่ก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคี ความสนุกสนานและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสังคม ประเพณีการเล่นกลองเลงเป็นวัฒนธรรมที่ดีอย่างหนึ่งของชาวโย้ยและเป็นการสนับสนุนกลองเลง โดยนำเอากลองกิ่งมาประยุกต์เพื่อตีประกอบท่ารำโย้ยกลองเลง และนำไปแสดงในงานสำคัญต่างๆ และในปัจจุบันเป็นประเพณีที่นิยมเล่นในอำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร
ขอบคุณภาพจาก เว็บไซต์เลิฟสกลดอทคอม
ขอบคุณภาพจาก เว็บไซต์กลุ่มชาติไทยพันธุ์โย้ย