“สุดท้ายขอให้ลูก ๆ และภรรยาจงภูมิใจในตัวพ่อ ไม่ต้องเสียใจ ชาติหน้าเกิดมาคงไม่พบเจอการปฏิวัติอีก ลาก่อน พบกันชาติหน้า...” ข้อความทิ้งท้ายของชายขับแท็กซี่ ทน 435 พุ่งชนรถถังคณะรัฐประหาร คปค. ในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2549 เพื่อลบล้างคำปรามาสของ พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษกคณะรัฐประหาร คปค. ที่ว่า “ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้”
นวมทอง ไพรวัลย์ หรือลุงนวมทอง ผู้ซึ่งยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย ยืนหยัดตรงข้ามอำนาจเผด็จการ ตัดสินใจใช้รถแท็กซี่ อุปกรณ์ทำมาหากินเพียงหนึ่งเดียวของตนพุ่งเข้าชนรถถังคณะรัฐประหาร คปค. หรือคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2549
รถถังยุทโธปกรณ์นิ่งสนิทไร้ซึ่งรอยขีดข่วน แน่นอนว่าตรงกันข้ามกับแท็กซี่สีม่วงของบริษัท สหกรณ์แหลมทองแท็กซี่ จำกัด ทะเบียน ทน 435 กรุงเทพมหานคร ที่อยู่ในสภาพยับเยินไม่ต่างกันกับลุงนวมทอง ไพรวัลย์ แม้ต้องการจะเสียสละชีวิตของตนเองเพื่ออุดมการณ์ในเรื่องประชาธิปไตย ลุงนวมทองถูกส่งตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลวชิระ สื่อหลายสำนักเสนอข่าวเพียงครู่ก็เงียบหาย พร้อมติดป้ายให้เป็นเพียงผู้ป่วยทางจิต
ภายหลังรักษาอาการเจ็บก็ได้รับการวินิจฉัยให้สามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ ลุงนวมทองหยิบยกหนังสือพิมพ์หลายสำนักมาเปรียบเทียบกัน ไม่พบแม้สักตัวอักษรที่แปลกแยก ทุกสื่อเสนอตรงกัน “ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้” บางส่วนในคำกล่าวให้สัมภาษณ์ของ พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษกคณะรัฐประหาร คปค.
“..เหตุผลที่ผมเลือกวันสุดท้ายของเดือนตุลาคมเป็นวันพลีชีพ เพราะเดือนนี้เป็นเดือนที่วิญญาณของวีรชนที่สถิตอยู่ที่อนุสรณ์สถานฯ ที่ผมทำการพลีชีพนี้ได้เรียกร้องกระทั่งได้มาซึ่งประชาธิปไตย และวิญญาณของผมก็จะสถิตอยู่กับเหล่าวีรชนแห่งนี้ตลอดไป..” ข้อความบางส่วนในจดหมายของลุงนวมทอง ก่อนตัดสินใจแขวนคอจบชีวิตตนเองบริเวณราวสะพานลอย ริมถนนวิภาวดีรังสิต ขาออก หน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เพื่อต่อต้านอำนาจเผด็จการรัฐประหารในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2549 โดยสวมเสื้อที่สกรีนบทกวีของ กุหลาบ สายประดิษฐ์
“อันประชา สามัคคี มีจัดตั้ง เป็นพลัง แกร่งกล้า มหาศาล แสนอาวุธ แสนศัตรู หมู่อันธพาล ไม่อาจต้าน แรงมหา ประชาชน”
การสละชีวิตเพื่ออุดมการณ์ของลุงนวมทองยังคงดำรงอยู่ในความทรงจำของใครหลาย ๆ คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่านักกิจกรรมผู้ยึดถือแนวทางประชาธิปไตย ต่อต้านการรัฐประหาร ยืนหยัดตรงข้ามอำนาจเผด็จการ โดยทุก ๆ ปี ในวันที่ 31 ตุลาคม จะมีการวางดอกไม้ร่วมรำลึกอาลัยแด่ลุงนวมทวง ไพรวัลย์ บริเวณราวสะพานลอย ที่ตั้งซึ่งอุดมการณ์ถูกยอมรับ ไม่มีการติดป้ายผู้ป่วยทางจิตให้แก่สดมภ์อนุสรณ์ นวมทอง ไพรวัลย์อีกต่อไป
เหตุการณ์ดังกล่าวราวกับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของใครหลายคน รัฐบาลที่เลือกโดยประชาชนถูกโค่นล้มด้วยอำนาจทางการทหารและแต่งตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่ไร้ซึ่งความเห็นชอบจากประชาชน เริ่มถูกตั้งคำถามและต่อต้านอำนาจเผด็จการ นักกิจกรรมทางการเมืองหลายคนกลายเป็นที่น่าจดจำมากขึ้น ประชาชนตระหนักรู้และเข้าใจในเสียงและสิทธิที่ตนเองมีมากยิ่งขึ้น
ประชาชนต่างต้องการรัฐบาลที่ซึ่งได้มาด้วยสิทธิที่ตนใช้คัดสรร หาใช่การคัดเลือกในเบื้องลึกเบื้องหลังจากอำนาจบางอย่าง จากวันนั้นสู่วันนี้แม้ตัวเลขสถิติการยึดอำนาจการปกครองของไทยจะเพิ่มขึ้น แต่การตื่นรู้ในบางสิ่งของประชาชนในปัจจุบันจะกลายเป็นรั้วหนามอันแข็งแกร่งที่จะช่วยให้ครั้งถัดไปไม่สามารถทำได้ง่ายดาย
แต่ถึงแม้การประกาศคุณค่าแห่งอุดมการณ์ของลุงนวมทองจะผ่านไปแล้วกว่ายี่สิบปี น่าสนใจที่หลายเหตุการณ์ยังคงวนอยู่ที่เดิม หลายครั้งที่นักกิจกรรมถูกตราหน้าให้เป็นเพียงบุคคลที่ไร้ขนบ จนเมื่อความพยายามออกดอกผล บุคคลไร้ขนบจึงจะกลายเป็นวีรชนผู้มีคุณค่า ประเทศภายใต้ระบอบการปกครองประชาธิปไตย ที่ถูกตั้งคำถามจากประชาชน ‘ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ภายใต้อำนาจ..ใคร?’
เหตุการณ์ในครั้งนั้นของลุงนวมทองราวกับแผลเป็นที่คอยย้ำเตือนต่ออำนาจอันยิ่งใหญ่อยู่เสมอ ไม่ว่าจะผ่านไปสักอีกกี่ปี ในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต การสละชีวิตเพื่ออุดมการณ์อันมีค่าจะยังคงอยู่ เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยภายใต้อำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง