นักวิชาการเผย เหตุการณ์ไฟป่าออสเตรเลียที่กินระยะเวลายาวนาน ส่งให้ผลให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์พุ่งสูงขึ้น อาจทำให้ไม่สามารถถ่ายเทความร้อนได้ทัน อาจนำไปสู่การล่มสลายของโลก
เหตุการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นในประเทศออสเตรเลีย นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 มาจนถึง 7 มกราคม 2563 นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม คาดว่า ความเสียหายจากไฟป่าครั้งนี้เผาผลาญไปแล้วมากกว่า 163,169 ตารางกิโลเมตร ต้นไม้ พันธุ์พืช สัตว์ป่านับล้านถูกเผาไหม้ไปกับไฟ เหตุการณ์ในครั้งนี้ยังส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศและอุณหภูมิที่อาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 0.5 องศาเซลเซียส
นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ให้ความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบของไฟป่าในครั้งนี้ว่า “ในอนาคตมันฟื้นฟูได้ เพียงแค่ต้องรอเวลา เมื่อธรรมชาติฟื้นฟูคืนมา ต้นไม้ สัตว์ป่าก็จะกลับมาเพิ่มจำนวนขึ้นได้เอง เมื่อไฟป่าดับลงแล้ว อาจต้องใช้สัก 10-15 ปีฟื้นฟู หากการเผาไหม้ขยายเป็นวงกว้างมาก พื้นที่ตรงกลางอาจมีการเปลี่ยนแปลงของพันธ์พืช”
สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าพืชพันธุ์และสัตว์ป่าที่ถูกเผาไหม้ไป คือ การเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่อาจทำปฏิกิริยาจนทำให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น สภาพอากาศจะร้อนจนสิ่งมีชีวิตไม่สามารถอยู่ได้ “เมื่อพูดถึงไฟป่ามันร้อนมาก ส่งผลให้ควันลอยขึ้นสูงกว่าปกติ สิ่งที่น่ากังวลคือ เมื่อต้นไม้ถูกเผาไหม้ไป จะก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลอยขึ้นไปอยู่บนอากาศ แล้วก็เกิดเป็นภาวะโลกร้อน ซึ่งวิธีที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะตกลงมาที่พื้นคือต้นไม้หายใจเอามันเข้าไปแล้วและสังเคราะห์ให้เป็นก๊าซออกซิเจน ดังนั้นขึ้นอยู่กับว่าในช่วงปีสองปีที่ต้นไม้ยังไม่โต ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะเพิ่มขึ้นหรือเกิดความร้อนได้มากแค่ไหนในป่าออสเตรเลียหรือแอมะซอน หากเปลี่ยนแปลงไม่มากเดี๋ยวมันก็ฟื้นคืนกลับมาได้”
ดังนั้น ผลกระทบที่แท้จริงจากเหตุการณ์ไฟป่าออสเตรเลียครั้งนี้ คือ ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่อาจเพิ่มขึ้นเพราะสูญเสียต้นไม้ในการดูดซับและสังเคราะห์ออกมาเป็นก๊าซออกซิเจน หากป่าในพื้นที่อื่นเกิดไฟไหม้ในระยะเวลาที่ใกล้กัน ซึ่งอาจส่งผลให้ปริมาณ Co2 มากขึ้น ทำให้โลกไม่สามารถถ่ายเทความร้อนได้ทัน จนนำไปสู่การล่มสลายของโลก