คาดเศรษฐกิจ ‘โคราช’ เติบโตผลจากเส้นทางใหม่ “มอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน - โคราช” กระตุ้นนักท่องเที่ยว

คาดเศรษฐกิจ ‘โคราช’ เติบโตผลจากเส้นทางใหม่ “มอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน - โคราช” กระตุ้นนักท่องเที่ยว

โครงการกรมทางหลวงพิเศษ มอเตอร์เวย์ “บางปะอิน - โคราช” ส่งผลให้เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลง ปัญหาเรื่องที่ดินเวนคืนไม่เป็นธรรมส่งผลกระทบต่อชาวบ้านต้องเปลี่ยนอาชีพ ด้านโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน พัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจต่างประเทศเพื่อเพิ่มช่องทางการค้า อยู่ระหว่างการประเมิน มีแนวโน้มเศรษฐกิจจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดเปิดให้บริการต้นปี 2564
      โครงการการก่อสร้างทางหลวงพิเศษมอเตอร์เวย์หมายเลข 6 บางปะอิน - นครราชสีมา พื้นที่โครงการ ผ่าน 3 จังหวัด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสระบุรีและจังหวัดนครราชสีมา รวมระยะทาง 196 กม. มูลค่าโครงการ 84,600 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 77,970 ล้านบาท และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินอีก 6,630 ล้านบาท แบ่งสัญญาการก่อสร้างออกเป็น 40 สัญญา เพื่อการก่อสร้างที่รวดเร็วยิ่งขึ้น ใช้งบประมานปี 2559 จำนวน 25 สัญญา แล้วเสร็จ ปี 2562 เปิดให้บริการ ปี 2564
      มอเตอร์เวย์สายนี้ เป็นเส้นทางเชื่อมโยงกรุงเทพมหานครกับศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งย่นระยะทางให้ใกล้กันมากขึ้นด้วยระยะทาง 196 กม. ใช้เวลาเดินทางเพียง 127 นาที อีกทั้งยังเป็นโครงข่ายเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน คือ ลาว เวียดนาม กัมพูชา และจีนตอนใต้ โดยมีแนวเส้นทางเริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อกับวงแหวนรอบนอกตะวันออกกับ ถ.พหลโยธินที่บริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นเส้นทางขนานไปกับ ถ.พหลโยธิน ถ.มิตรภาพ บรรจบกับทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา บริเวณหลัก กม.ที่ 2 โดยเส้นทางพาดผ่านพื้นที่ 3 จังหวัด 12 อําเภอ ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้แก่อําเภอบางปะอิน อําเภอวังน้อย อําเภออุทัย จังหวัดสระบุรี ได้แก่อําเภอหนองแค อําเภอเมืองสระบุรี อําเภอแก่งคอย อําเภอมวกเหล็ก จังหวัดนครราชสีมา ได้แก่อําเภอปากช่อง สีคิ้ว อําเภอสูงเนิน อําเภอขามทะเลสอ อําเภอเมืองนครราชสีมา และมีจุดทางแยกต่างระดับที่เชื่อมต่อกับทางหลวง จํานวน 10 แห่ง ได้แก่ ทางต่างระดับบางปะอิน, บางปะอิน, วังน้อย, หินกอง, สระบุรี, แก่งคอย, มวกเหล็ก, ปากช่อง, สีคิ้วและเมืองนครราชสีมา
      โดยเส้นทางมอเตอร์เวย์ในประเทศไทยเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน โดยในขณะนี้ประเทศจีนมีโครงการสร้างทรานไซบีเรีย เป็นรถไฟและถนนเชื่อมโยงแต่ละประเทศไปถึงยุโรป หากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ ในอนาคตอาจมีบริษัทใหญ่ๆ มองเห็นช่องทางการค้าจากระบบขนส่งที่ขยายตัวมากขึ้น รวมถึงโครงการขนาดใหญ่ที่อาจจะตามมาอย่าง ไดพอร์ต (ท่าเรือบก) เพราะจากเดิมประเทศไทยมีท่าเรือหลักอยู่ที่แหลมฉบังและคลองเตย สินค้าที่นำเข้าและส่งออกจะต้องผ่านกรมศุลกากรเพื่อเปรียบเทียบการเสียภาษี เมื่อระบบการนำเข้าและส่งออกทั้งหมดอยู่ที่ท่าเรือทำให้การขนส่งล่าช้า จึงคาดการณ์ว่าในอนาคตสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือรถไฟทางคู่ ซึ่งเป็นผลเชื่อมโยงกับเส้นทางมอเตอร์เวย์ หากเกิดขึ้นเศรษฐกิจจะเติบโตมากขึ้น อัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้น แต่อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมา จึงควรต้องวางแผนรับมือในอนาคต
      นายทรรศพงศ์ เดือนแจ่ม หัวหน้าฝ่ายทะเบียนที่ดิน จ.นครราชสีมา กล่าวถึงปัญหาการประท้วงเรื่องเงินเวนคืนที่ดินเนื่องจากชาวบ้านได้รับเงินเวนคืนต่ำกว่าราคาซื้อ โดยเจ้าของที่ดินปัจจุบันซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิมในราคาที่สูงกว่าราคาประเมินจึงทำให้เกิดปัญหาราคาประเมินที่ดินไม่สอดคล้องกับราคาซื้อขายจริงในท้องตลาด เพราะเงินเวนคืนที่ดินต้องเป็นไปตามการประเมินของกรมที่ดิน ซึ่งที่ดินติดถนนทางหลวงแผ่นดินในเขตอำเภอเมืองนครราชสีมา มีราคาประเมินไร่ละ 4.8 ล้านบาท ในขณะที่เขตอำเภอปากช่องซึ่งมีทางมอเตอร์เวย์พาดผ่าน มีราคาประเมินไร่ละ 9 แสนบาท แต่ราคาขายในท้องตลาดสูงกว่าราคาประเมินหลายเท่าตัว เพราะจังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งโดยเฉพาะอำเภอปากช่อง ทำให้คนภายนอกมองว่ามูลค่าที่ดินบริเวณพื้นที่ใกล้กับทางลงมอเตอร์เวย์ อาจมีมูลค่าสูงขึ้น
      นายทรรศพงศ์ เดือนแจ่ม กล่าวเพิ่มเติมว่า เส้นทางตัดใหม่มีระยะทางกว่า 196 กิโลเมตร จึงจำเป็นต้องมีจุดพักรถ เพื่อพัฒนาระบบขนส่งให้มีความก้าวหน้า ทำให้มีโครงการที่จะสร้างจุดพักรถขึ้น เนื่องจากเป็นการสร้างเพื่อส่วนรวม อาจมีผลกระทบต่อชาวบ้านที่ต้องสละที่ดินบางส่วนเพื่อโครงการดังกล่าว ทั้งในด้านการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ ถึงแม้ชาวบ้านจะได้รับเงินเวนคืนอย่างเหมาะสมก็ตาม
      นายอัครวุฒิ อัคนีนิโรธ ผู้ชำนาญการผังเมือง จ.นคราราชสีมา เผยว่า เนื่องจากมีผู้ใช้เส้นทาง บางปะอิน - นครราชสีมาในการเดินทางเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาการคมนาคมและการจราจรไม่คล่องตัว ซึ่งการสร้างเส้นทางพิเศษนี้มีข้อดีคือ ช่วยลดปัญหาการจราจร การส่งออกทั้งในและนอกประเทศเติบโตมากขึ้น เพราะการส่งสินค้ามีความรวดเร็ว หากมองในภาพรวมที่กว้างขึ้นจะเห็นว่าทางหลวงพิเศษมอเตอร์เวย์นั้น เป็นเส้นทางเศรษฐกิจเชื่อมต่อระหว่างประเทศไทยกับประเทศในกลุ่มสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดจีน ที่ต้องการขยายเส้นทางการส่งออกสินค้า
      อ.ดร. อุทิศพงศ์ จิรวัฒนา อาจารย์ประจำสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ คณะบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจจังหวัดนครราชสีมาหลังจากการสร้างทางมอเตอร์เวย์แล้วเสร็จว่า การสร้างมอเตอร์เวย์สายนี้เป็นเส้นทางเข้าไปสู่จังหวัดนครราชสีมา และเป็นประตูสู่ภาคอีสาน หากจะคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโคราชมีแนวโน้มเป็นอย่างไร ให้สังเกตจากการเพิ่มขึ้น ของห้างสรรพสินค้าจากเดิมมีห้างสรรพสินค้าเพียงแห่งเดียวคือ เดอะมอลล์โคราช เมื่อมีโครงการสร้างทางพิเศษมอเตอร์เวย์เกิดขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจมีการขยายตัวมากขึ้น มีการสร้างห้างเทอร์มินอล21 เซ็นทรัลโคราช และมีโรงแรมระดับห้าดาวเพิ่มขึ้น ดังนั้นจังหวัดนครราชสีมาจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนกรุงเทพและนักท่องเที่ยวที่ต้องการหาเมืองรองเพื่อการท่องเที่ยวและพักผ่อนโดยรายได้ของประเทศไทย10% มาจากการท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีเป้าหมายคือทะเลและภูเขาทางภาคเหนือ หากการสร้างมอเตอร์เวย์เส้นนี้แล้วเสร็จ การเดินทางจะสะดวกมากขึ้น ทั้งการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติและการท่องเที่ยวของคนภายในประเทศ คาดว่ามีโอกาสที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางมาที่ภาคอีสานมากขึ้น และทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวในจังหวัดนครราชสีมาดีขึ้น ทั้งธุรกิจโรงแรม ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า คาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
      นอกจากนี้ อ.ดร. อุทิศ พงศ์จิรวัฒนา ยังได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับร้านค้าบริเวณด้านล่างของเส้นทางมอเตอร์เวย์ว่า เนื่องจากเส้นทางมอเตอร์เวย์มีทางลงหลายจุด ทำให้ร้านค้าในละแวกทางลงที่ใกล้กับแหล่งท่องเที่ยวมีรายได้ที่ดีขึ้น แต่ร้านค้าร้านค้าริมทางที่ไกลจากจุดทางลง ต้องมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างมอเตอร์เวย์ ดังนั้นจึงต้องมีการปรับตัว ด้วยการปรับปรุงร้านให้ดีขึ้น เนื่องจากได้มีการประเมินแล้วว่าการสร้างเส้นทางนี้เป็นสิ่งที่สร้าง ประโยชน์ต่อส่วนรวม
      ด้านชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียงถนนมอเตอร์เวย์ กล่าวว่า ระหว่างการสร้างมอเตอร์เวย์มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของชาวบ้าน เนื่องจากมีรถบรรทุกขนาดใหญ่สัญจรผ่านเส้นทางนี้ และผู้ที่ใช้ถนนส่วนใหญ่มักจะเดินทางมาจากต่างจังหวัด ดังนั้นความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุจึงมีมากขึ้น ต้องระมัดระวังด้านความปลอดภัยเป็นพิเศษ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงจุดกลับรถ ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านการสัญจรของชาวบ้าน ผู้ที่อยู่ในเขตพื้นที่ต้องใช้เวลาในการเดินทางเพิ่มมากขึ้น เพราะต้องไปยังจุดกลับรถที่มีระยะทางไกลขึ้น รวมถึงการสร้างตอม่อใต้สะพาน ทำให้มีโอกาสที่จะข้ามถนนไปอีกฝั่งเป็นไปได้ยาก ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นผลกระทบต่อชาวบ้านในบริเวณที่ทางมอเตอร์เวย์พาดผ่าน
      ผลกระทบเรื่องการใช้ชีวิตในชุมชน รถที่วิ่งยาวจะใช้เส้นทางมอเตอร์เวย์ ส่วนเส้นทาง ด้านล่างจะมีรถบรรทุกที่สัญจรเท่านั้น อาจทำให้เศรษฐกิจหรือธุรกิจบริเวณนั้นเปลี่ยนแปลงไป
      ด้านผลกระทบต่อการเกษตร เจ้าของที่ดินที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมมองว่า หากต้องเสียที่ดินหลายสิบไร่สำหรับการสร้างทางมอเตอร์เวย์ดังกล่าว ชาวบ้านอาจเหลือพื้นที่สำหรับทำการเกษตรน้อยกว่า 5 ไร่ ซึ่งไม่เพียงพอและไม่คุ้มค่าต่อการทำการเกษตร อาจต้องมีการเปลี่ยนอาชีพเพื่อให้ มีรายได้ที่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ

Top