ความคืบหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่ชุมชน จ. มหาสารคาม ล่าสุดทางเทศบาลเมืองมหาสารคามได้เสนอขอรับการสนับสนุนโครงการจำนวน 27 โครงการ โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้นในวาระแรก คือเวลา 4 ปี จำนวนเงิน 1042.40 ล้านบาท ซึ่งจัดสรรงบประมาณแบ่งเป็น 4 พื้นที่ ประกอบด้วย เทศบาลเมืองมหาสารคาม, เทศบาลตำบลโคกพระ, เทศบาลตำบลบรบือ และเทศบาลตำบลพยัคฆภูมิพิสัย
จังหวัดมหาสารคามได้เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมโยธาธิการและผังเมือง 27 โครงการ จำนวน 1,042.40 ล้านบาทในวาระแรก (4 ปี) ซึ่งมีพื้นที่ของบประมาณจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ เทศบาลเมืองมหาสารคาม จำนวน 10 โครงการ ใช้งบประมาณ 661.11 ล้านบาท เทศบาลตำบลโคกพระ จำนวน 3 โครงการ ใช้งบประมาณ 70.17 ล้านบาท เทศบาลตำบลบรบือ จำนวน 11 โครงการ ใช้งบประมาณ 154.55 ล้านบาท และเทศบาลตำบลพยัคฆภูมิพิสัย จำนวน 3 โครงการ ใช้งบประมาณ 156.57 ล้านบาท
นายสายยันต์ ภิรมย์กิจ ปลัดเทศบาลเมืองมหาสารคาม เผยว่า ความคืบหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่ชุมชนจังหวัดมหาสารคาม ณ ตอนนี้ มี 2 โครงการที่ได้มีการศึกษาออกแบบและอยู่ในช่วงเจรจาขอใช้พื้นที่ ซึ่งมีแบบแปลน แผนงาน คือโครงการก่อสร้างลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 บริเวณหัวมุมตรงข้ามหอนาฬิกา และโครงการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 บริเวณหน้าอาคาร MK Park (ศาลากลางเก่า) และงบประมาณสนับสนุนการก่อสร้าง 70,863,012 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการ นอกจากนี้ยังมีโครงการที่ ดำเนินการไปแล้วกว่า 70% โดย 20 โครงการหลักเป็นโครงการ ซ่อมถนนคอนกรีตและปรับปรุงสะพานเจริญราชเด็จ3 บริเวณโรงพยาบาลสุทธาเวช และมีโครงการที่คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2563 ได้แก่ โครงการสวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติพระนางเจ้าสิริกิติ์ โครงการถนนเฉลิมพระเกียรติ และโครงการสวนเฉลิมพระเกียรติหนองข่า
จากวารสารเทศบาลเมืองมหาสารคาม ปีที่ 11 ฉบับที่ 1 เดือนธันวาคม 2561 ถึงเดือน มกราคม 2562 ระบุว่า รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่ชุมชนจังหวัดมหาสารคาม จึงได้มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมืองกระทรวงมหาดไทยว่าจ้าง บริษัทไฟนอล ดีไซน์ คอนซัลแตนท์ ให้ทำการศึกษาเพื่อพัฒนาพื้นที่ชุมชนจังหวัดมหาสารคาม เพื่อศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดด้านโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภคให้เป็นไปตามระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยหวังให้เกิดการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพของชุมชนให้เป็นตามมาตรฐาน มีความเป็นระเบียบสวยงาม ปลอดภัย และเป็นเมืองที่น่าอยู่ ตลอดจนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน
ด้านนายคณภััทร บุญศรี ผู้อำนวยการส่วนควบคุมการก่อสร้างอาคารและผังเมือง เผยว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นผู้จัดจ้าง บริษัทไฟนอล ดีไซน์ คอนซัลแตนท์ ให้เข้ามาสำรวจพื้นที่ทั่วจังหวัดมหาสารคามและรับผิดชอบในด้านการออกแบบ โดยมีพื้นที่ดำเนินการ ได้แก่ เทศบาลเมืองมหาสารคาม โคกพระ บรบือ และพยัคฆภูมิพิสัย ซึ่งทั้ง 4 พื้นที่นี้ตนมองว่าเป็นจุดที่มีอาคารบ้านเรือนและประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น
นอกจากนี้ นายสายยันต์ กล่าวต่ออีกว่า โครงการก่อสร้างปรับปรุงผิวจราจร ทางเท้าและภูมิทัศน์ 6 สาย เป็นโครงการที่มีแบบแผนชัดเจนแล้ว แต่เนื่องจากงบประมาณที่อนุมัติแต่ละโครงการไม่ได้อนุมัติพร้อมกันทั้งหมดทีเดียว จึงจำเป็นต้องดำเนินโครงการตามงบประมาณที่ได้รับ ไม่สามารถทำตามแผนงานหลักที่วางไว้ได้
อีกทั้งเทศบาลเมืองมหาสารคามจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณเร่งด่วนจากกรมโยธาธิการและผังเมืองในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 1 โครงการ คือโครงการปรับปรุงผิวจราจร ทางเท้าและภูมิทัศน์ ถนนนครสวรรค์ งบประมาณทั้งสิ้น 134.64 ล้านบาท เพื่อการพัฒนาผิวจราจรในเขตเทศบาลให้ได้มาตรฐานตามหลักวิศวกรรมและสะดวกต่อการสัญจรของประชาชน พร้อมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบของถนนให้สวยงาม มีการปลูกต้นไม้ประจำถิ่นเพื่อสร้างความร่มรื่น ในทั้งหมด 3 เส้นทาง ได้แก่ 1. ถนนนครสวรรค์ ระยะทาง 7.69 กม. งบประมาณ 134,640,000 บาท 2. ถนนผดุงวิถี ระยะทาง 3.59 กม. งบประมาณ 58,104,321 บาท 3. ถนนมหาสารคาม - วาปีปทุม ระยะทาง 1.30 กม. งบประมาณ 21,047,070 บาท นอกจากนี้ยังมีโครงการก่อสร้างซุ้มประตูเมืองอีก 4 แห่ง ได้แก่ ซุ้มประตูเมืองแยกวังยาว, แยกบ้านหม้อ, แยกแก่งเลิงจาน และแยกพลศึกษา โดยใช้งบประมาณสนับสนุนการก่อสร้าง จำนวน 103,840,000 บาท
ซึ่งงบประมาณทั้ง 27 โครงการแบ่งออกเป็น 4 พื้นที่ชุมชน คือพื้นที่เทศบาลเมืองมหาสารคาม, เทศบาลตำบลบรบือ, เทศบาลตำบลโคกพระ และเทศบาลตำบลพยัคฆภูมิพิสัย ได้แก่
1) โครงการก่อสร้างปรับปรุงผิวจราจร ทางเท้า ภูมิทัศน์ ถนนนครสวรรค์ งบประมาณ 139 ล้านบาท
2) โครงการก่อสร้างปรับปรุงผิวจราจร ทางเท้า ภูมิทัศน์ ถนนผดุงวิถี งบประมาณ 50.47 ล้านบาท
3) โครงการก่อสร้างปรับปรุงผิวจราจร ทางเท้า ภูมิทัศน์ ถนนมหาสารคาม-วาปีปทุม งบประมาณ 24.05 ล้านบาท
4) โครงการก่อสร้างซุ้มประตูเมือง งบประมาณ 101.78 ล้านบาท
5) โครงการก่อสร้างลานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 4 งบประมาณ 104 ล้านบาท
6) โครงการก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ งบประมาณ 125 ล้านบาท
7) โครงการปรับปรุงสวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติ งบประมาณ 25.50 ล้านบาท
8) โครงการปรับปรุงสวนสาธารณะหนองข่า งบประมาณ 54.83 ล้านบาท
9) โครงการปรับปรุงสวนสาธารณะเลิงน้ำจั่น งบประมาณ 18.23 ล้านบาท
10) โครงการปรับปรุงสวนสุขภาพสมถวิล งบประมาณ 18.23 ล้านบาท
11) โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม ถนนสุขาภิบาล 1 งบประมาณ 16.04 ล้านบาท
12) โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม ถนนสุขาภิบาล 2 งบประมาณ 4.51 ล้านบาท
13) โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม ถนนสุขาภิบาล 5 งบประมาณ 3.13 ล้านบาท
14) โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม ถนนสุขาภิบาล 6 งบประมาณ 1.46 ล้านบาท
15) โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม ถนนสุขาภิบาล 10 งบประมาณ 7.37 ล้านบาท
16) โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม ถนนสุขาภิบาล 11 งบประมาณ 23.06 ล้านบาท
17) โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม ถนนสุขาภิบาล 17 งบประมาณ 8.37 ล้านบาท
18) โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม ถนนสุขาภิบาล 30 งบประมาณ 5.40 ล้านบาท
19) โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม ถนนทล.219 (บรบือ-นาเชือก) งบประมาณ 11.48 ล้านบาท
20) โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม ถนนทล.23 (แจ้งสนิท) งบประมาณ 30.73 ล้านบาท
21) โครงการสวนสาธารณะเทศบาลตำบลบรบือ งบประมาณ 43.01 ล้านบาท
22) โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม ถนนทล.2188 งบประมาณ 16.54 ล้านบาท
23) โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม ลำรางคอนกรีต งบประมาณ 10.50 ล้านบาท
24) โครงการปรับปรุงสวนสาธารณะหนองบัว งบประมาณ 43.13 ล้านบาท
25) โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม ถนนนุตจรัส งบประมาณ 26.33 ล้านบาท
26) โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม ถนนราษฎร์สามัคคี งบประมาณ 23.76 ล้านบาท
27) โครงการปรับปรุงสวนสาธารณะสวนพุทธธรรม งบประมาณ 106.48 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สอบถามชาวบ้านบริเวณพื้นที่ในโครงการปรับปรุงสวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติ ที่ใช้งบประมาณ 25.50 ล้านบาท อยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลเมือง หนึ่งในโครงการพัฒนาพื้นที่ชุมชนจังหวัดมหาสารคาม พบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องโครงการ เห็นมีเพียงป้ายประกาศที่ทางหน่วยงานรัฐมาติดประกาศไว้เท่านั้น ไม่ได้มีการประชาคมหรือประกาศให้ชาวบ้านทราบโดยตรง ชาวบ้านที่อยู่บริเวณสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติยังระบุอีกว่า ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรเท่าที่ควร อีกทั้งทำให้บริเวณรอบนอกรถสัญจรลำบากส่งผลกระทบต่อการค้าขาย