หนองหารอ่วม หน่วยงานรัฐเร่งวางมติ พร่องน้ำลอกหนองบำบัดแก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย

หนองหารอ่วม หน่วยงานรัฐเร่งวางมติ พร่องน้ำลอกหนองบำบัดแก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย

ผลวิจัยชี้คุณภาพน้ำ ณ จุดต่างๆ บริเวณพื้นที่ชุมชนรอบหนองหารเสื่อมสภาพ หน่วยงานรัฐและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกันจัดการประชุมหารือเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา จัดตั้ง “โครงการพร่องน้ำหนองหาร” เพื่อกำจัดวัชพืชใต้น้ำที่เป็นสาเหตุทำให้คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม และคืนค่ามาตรฐานที่เหมาะต่อการใช้อุปโภคและบริโภค โดยขอความร่วมมือชาวบ้านงดทำนาปรัง ด้านชาวบ้านไม่เห็นด้วย หวั่นกระทบการอุปโภคบริโภคและการเกษตรในพื้นที่รอบหนองหาร
      เมื่อเดือน พ.ย 2562 ที่ผ่านมา นายชัยมงคล ไชยรบ นายก อบจ.สกลนคร พร้อมด้วย นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม นักวิชาการด้านการประมง พร้อมปราชญ์ชาวบ้าน ตลอดทั้งองค์กรเอกชน ได้ร่วมกับประชาชนในพื้นที่รอบหนองหาร และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 14 แห่ง ลงความเห็นตรงกันว่าน้ำในหนองหารเริ่มไม่ได้คุณภาพ จึงได้มีการคิดวิธีที่จะปกป้องแหล่งน้ำจืดที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทย โดยวางมติในองค์ประชุมว่าจะทำการบำบัดน้ำเน่าเสียที่จังหวัดสกลนครด้วยการ “พร่องน้ำ” ทางผู้สื่อข่าวจึงได้ลงพื้นที่ไปติดตามโครงการดังกล่าว
      ผศ.ดร. ศมณพร สุทธิบาก หนึ่งในทีมวิจัยน้ำหนองหาร จากคณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จ.สกลนคร เผยว่า จากการวัดระดับคุณภาพน้ำในหนองหารนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้คุณภาพน้ำหนองหารอยู่ในระดับ 3 คือคุณภาพน้ำพอใช้ สามารถนำมาใช้อุปโภคบริโภคได้ แต่ต้องผ่านกระบวนการกรองน้ำของประปา และการประเมินคุณภาพน้ำจะมีอยู่ 5 ระดับ ได้แก่ ระดับที่หนึ่งคุณภาพน้ำดีมาก ระดับที่2 คุณภาพน้ำดี ระดับที่3 คุณภาพน้ำพอใช้ ระดับที่4 คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม และระดับที่5 คุณภาพน้ำวิกฤต
      จากผลการวิจัยคุณภาพน้ำหนองหารฤดูแล้ง (เมษายน 2561) พบว่า การวิเคราะห์คุณภาพน้ำในหนองหารตามมาตารฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน โดยการวัดคุณภาพน้ำจะมีการวัดปริมาณออกซิเจนละลายสูง (DO) ที่ต้องมีค่าระหว่าง 5-8 มิลลิกรัม/ลิตร ค่าบีโอดี (BOD) ไม่เกิน 20 มิลลิกรัม ปริมาณแอมโมเนียไนโตเจน ไนเตรท ฟอสฟอรัสทั้งหมด แบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมด และแบคทีเรียกลุ่มฟีคอลโคลิฟอร์ม ซึ่งมีการประเมินน้ำในบริเวณ อ.เมืองและ อ.โพนนาแก้วที่มีที่ตั้งติดกับหนองหาร 10 สถานี ได้ผลตรวจออกมาว่า คุณภาพน้ำอยู่ในระดับที่ดี และคุณภาพน้ำในลำห้วยสาขาตามมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดินอีก 8 สถานี พบว่ามีพื้นที่ที่อยู่ในระดับดี 5 สถานี ระดับพอใช้ 1 สถานี และอยู่ในระดับเสื่อมโทรมอีก 2 สถานี
      ผศ.ดร.ศมณพร ยังระบุอีกว่า ตั้งแต่ทำการศึกษาคุณภาพน้ำหนองหารจะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามฤดูกาล และในช่วงหน้าแล้งบางครั้งจะขยับไปอยู่ในระดับ 4 โดยเฉพาะโซนที่เป็นชุมชน ซึ่งบางจุดเริ่มที่จะเสื่อมโทรมจึงทำให้ทางจังหวัดสกลนครอยากจะรักษาคุณภาพน้ำไม่ให้เกินระดับ 3
      นายชัยมงคล ไชยรบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร ได้ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่า น้ำในหนองหารไม่ได้คุณภาพจริงตามที่เป็นข่าว ซึ่งในอดีตหนองหารมีระบบระบายน้ำแบบธรรมชาติ คือ การปล่อยน้ำให้ไหลลงสู่ลุ่มน้ำก่ำ ซึ่งในหน้าแล้งน้ำจะแห้งจนมองเห็นดอนสวรรค์ แต่เมื่อกว่า 40 ปีก่อน มีการสร้างประตูสุรัสวดีขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่ออุปโภคบริโภค เนื่องจากน้ำในหนองหารไม่มีการถ่ายเท และหนองหารเป็นแหล่งรองรับน้ำเสียจากชุมชนต่างๆ ที่อยู่บริเวณโดยรอบ อาทิเช่น เทศบาลเมืองฮางโฮ ท่าแร่ และเชียงเครือ จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำเสียขึ้นในช่วงที่ปิดประตูสุรัสวดี และจะเปิดระบายน้ำออกเฉพาะช่วงน้ำหลากในฤดูฝน แต่สิ่งปฏิกูลที่ทำให้น้ำเสียยังคงอยู่ข้างล่าง และอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้น้ำเสีย คือ ผักตบชวา สนุ่น สาหร่าย รวมไปถึงน้ำเสียที่ระบายลงไปในหนองหารโดยไม่ได้รับการบำบัด ไม่ใช่เพียงแต่ชุมชนเมืองในเขตเทศบาลสกลนคร แต่ยังรวมไปถึงพื้นที่บริเวณโดยรอบหนองหารทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสารเคมี ผงซักผ้า น้ำยาล้างจานที่ไหลมารวมกันอยู่ในหนองหาร จึงทำให้เกิดปัญหากับสัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำ ปัจจุบันปลาในหนองหารคนไม่นิยมที่จะนำมาบริโภค เนื่องจากกินแล้วพบว่าเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดพยาธิใบไม้ในตับและเชื้อโรค ทั้งยังมีผลจากการศึกษาบอกไว้ชัดเจนอีกว่าโรคพยาธิใบไม้ในตับ พบมากเป็นอันดับหนึ่งของโลกที่หนองหาร
      นายชัยมงคล กล่าวต่อว่า ทางภาครัฐจึงได้ทำประชาคมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นรอบหนองหารทั้ง 14 แห่ง ที่มีประชาชนอาศัยอยู่โดยรอบ และมีมติเห็นชอบสอดคล้องกันว่าวิธีการพร่องน้ำคือแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำเสียที่ดีที่สุด เพราะใช้งบประมาณน้อยและเป็นการใช้ธรรมชาติบำบัดน้ำเสีย ซึ่งการพร่องน้ำของหนองหารจำเป็นต้องใช้วิธีการบำบัดแบบธรรมชาติ คือการค่อยๆ ระบายน้ำออกให้น้ำลดลง ซึ่งไม่สามารถคำนวณได้แน่ชัดในแต่ละครั้ง หากพร่องเสร็จแล้วจะมีการสังเกตุการเปลี่ยนแปลงในระยะ 2-3 ร้อยเมตรตรงบริเวณที่น้ำลดลงว่าเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด เมื่อพบระดับที่อาจทำให้เกิดปัญหาจะหยุดการพร่องน้ำในทันที ซึ่งการระบายน้ำไม่สามารถระบายออกได้ในครั้งเดียวจึงต้องทำการปล่อยน้ำออกเป็นระยะๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำขาดแคลนในช่วงฤดูแล้ง
      ขณะนี้ทาง อบจ. ได้มีการวางแผนในปีถัดไปสำหรับโครงการพร่องน้ำ โดยการวางแผนขุดร่องน้ำในการพร่องน้ำในครั้งต่อไปเพื่อใช้กักเก็บน้ำ ซึ่งจุดนี้ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ในครั้งเดียว จึงต้องทำอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยทำให้คุณภาพน้ำดีขึ้น แต่อาจไม่ดีขึ้นไปทั้งหมดทีเดียว หากปล่อยน้ำหนองหารให้แห้งจะก่อให้เกิดความเดือดร้อน จึงต้องมีการประชุมวางแผนให้เป็นระบบ คือ 1. ประปาแบ่งเป็น 2 ภาคส่วน คือ ประปาส่วนภูมิภาคและประปาชุมชน 2. เรื่องการปลูกพืชในฤดูแล้ง คือข้าวนาปรังเป็นหลัก อาจจะมีมะเขือเทศ และข้าวโพดพ่วงด้วย ซึ่งประชาชนบางกลุ่มยอมเสียสละที่จะไม่ทำนาปรังเพื่อให้ทางรัฐบาลทำการบำบัดน้ำในหนองหารให้สะอาดขึ้น
      ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลหนองบัวแดง ระบุว่า ทางภาครัฐได้มีการลงมาพูดคุยกับชาวบ้านเกี่ยวกับโครงการพร่องน้ำหนองหารเพื่อบำบัดน้ำเน่าเสีย พร้อมทั้งแจ้งกับทางชาวบ้านว่าจะมีการปล่อยน้ำออกจากหนองหาร จึงขอความร่วมมือกับชาวบ้านให้งดทำนาปรัง ซึ่งชาวบ้านบางส่วนไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ เพราะกลัวกระทบกับการอุปโภคบริโภคและการเกษตรในพื้นที่รอบหนองหาร เนื่องจากน้ำในหนองหารคือแหล่งอุปโภคบริโภคหลักของชาวบ้าน
      นอกจากนี้ ชาวบ้านยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในอดีตกำนันทำเรื่องของบประมาณกับกรมอนามัยเพื่อมาจัดตั้งเครื่องสูบน้ำ ควบคู่กับการใช้คลอรีนและสารส้มบำบัดน้ำผ่านเครื่องกรอง เพื่อผลิตน้ำสะอาดแจกจ่ายกันใช้ภายในชุมชน พร้อมกับมีคณะกรรมการคอยดูแลและช่วยกันบริหารภายในชุมชน แต่ในระยะหลังมีการโอนคืนให้กับเทศบาลเป็นผู้ดูแล ในช่วงแรกน้ำยังสามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ปกติ แต่ในระยะหลังไม่สามารถใช้บริโภคได้เนื่องจากมีตะกอนตกค้าง ชาวบ้านจึงซื้อน้ำถังราคา 10-12 บาท มาดื่มกินตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
      ด้านชาวประมง บ้านท่าวัดใต้ ต.เหล่าปอแดง อ.เมือง จ.สกลนคร กล่าวว่า น้ำหนองหารเน่าเสียจริงแต่เป็นเพียงบางจุด เนื่องจากมีน้ำทิ้ง น้ำเน่าเสีย ที่มีที่มาจากทั้งในตัวเมืองหรือในชุมชนรอบหนองหารไหลลงมาสะสมในหนองหารเป็นระยะเวลาหลายปีทำให้เกิดน้ำเน่าเสีย จากเดิมที่สามารถหาปลาได้จำนวนมากถึงวันละ 70-80 กก. ปัจจุบันหาได้น้อยลง เหลือเพียงวันละสิบกว่ากิโลกรัม พอให้ประทังชีวิต ซึ่งไม่คุ้มกับการลงทุน ทั้งยังต้องออกไปหาไกลถึงดอนสวรรค์จึงจะได้ปลา ชาวประมงบางคนเป็นแผลก็ไม่สามารถลงน้ำหาปลาได้เพราะในน้ำมีเชื้อโรคที่เป็นอันตรายสะสมอยู่ จึงต้องยอมเสียรายได้ในส่วนนี้ไป
      นอกจากนี้ นายชัยมงคล ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ผักตบชวาที่ทำให้น้ำเสียนั้นทางภาครัฐมีแผนที่จะนำขึ้นมาทำปุ๋ยคอก และแจกจ่ายให้กับประชาชนหลังจากมีการพร่องน้ำไปแล้วในระยะหนึ่ง ซึ่งทางภาครัฐไม่สามารถใช้เรือโป๊ะเพียงอย่างเดียวในการกำจัดผักตบชวา และวัชพืชในหนองหารที่มีพื้นที่กว่า 74,000 ไร่ได้ทั้งหมด พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 14 องค์กรส่วนท้องถิ่นให้ช่วยกันกำจัดผักตบชวาในหนองหาร เพื่อลดปัญหาน้ำเน่าเสียที่เกิดขึ้น และการพร่องน้ำไม่ใช่การระบายน้ำทิ้งแต่เป็นการนำน้ำไปใช้ในการเกษตรให้คนที่อยู่ท้ายน้ำ คือลุ่มน้ำก่ำได้ใช้ประโยชน์ เมื่อพร่องน้ำแล้วจะกระจายข่าวบอกประชาชนให้เตรียมพื้นที่ดินในการเพาะปลูกหลังจากเสร็จฤดูเก็บเกี่ยวข้าว

Top