ชาวบ้านรวมตัวค้าน ประทานบัตรใบที่สามเหมืองหินดงมะไฟ

ชาวบ้านรวมตัวค้าน ประทานบัตรใบที่สามเหมืองหินดงมะไฟ

บริษัท ธ.ศิลาสิทธิ ได้ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองหินปูนใบที่สามที่ภูผาฮวก เหมืองหินปูนดงมะไฟ ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ต่อ อบต.ดงมะไฟ ขอให้จัดประชุมเพื่อพิจารณาวาระการขอต่ออายุใบอนุญาต ด้านชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยร่วมกันปิด อบต. เพื่อคัดค้าน ขณะที่ อบต. ได้ออกหนังสือเรื่องขอเลื่อนการประชุม ยืนยันว่ายังไม่มีการพิจารณาการต่อใบอนุญาตเพื่อทำเหมืองแร่ดังกล่าว
      นายสมควร เรียงโหน่ง ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได (กลาง) เปิดเผยว่า เมื่อพ.ศ.2536 บริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด ได้ยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองหินบริเวณภูผายา ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู เมื่อชาวบ้านทราบเรื่องจึงลุกขึ้นมาคัดค้านโดยมีจำนวนผู้คัดค้านในตอนนั้นประมาณ 2 – 3 พันคน เนื่องจากภูเขาลูกดังกล่าวมีภาพเขียนสีอยู่ภายในและได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นแหล่งโบราณคดีจากกรมศิลปกร จึงทำให้ไม่สามารถดำเนินการต่อได้
      ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560 ตามมาตรา ๓๔ ในการสํารวจแร่หรือการทําเหมือง ถ้าได้พบโบราณวัตถุ ซากดึกดําบรรพ์ แร่หรือสิ่งที่มีโครงสร้างทางธรณีวิทยาที่มีลักษณะทางกายภาพเป็นพิเศษอันมีคุณค่าเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยหรืออนุรักษ์ นอกจากจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ และกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองซากดึกดําบรรพ์แล้ว ผู้ถืออาชญาบัตร หรือผู้ถือประทานบัตรจะต้องแจ้งการพบนั้นต่อเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจําท้องที่โดยพลัน
      เมื่อ พ.ศ.2537 บริษัท ธ.ศิลาสิทธิ ได้ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองหินปูนอีกครั้งที่ภูผาฮวก และในปี 2543 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างอุตสาหกรรมจังหวัดหนองบัวลำภู กรมป่าไม้ได้เซ็นอนุญาตให้ผู้ประกอบการได้ใช้พื้นที่ในการทำเหมืองเป็นระยะเวลา 10 ปี โดยมีเนื้อที่ทั้งหมด 175 ไร่ 3 งาน 65 ตารางวา ชาวบ้านลุกขึ้นมาคัดค้านอีกครั้งหลังจากการได้รับประทานบัตรใบแรก ก่อนที่จะมีการต่อประทานบัตรใบที่สองในปี 2553 ซึ่งเป็นใบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
      การต่อสู้เพื่อคัดค้านการทำเหมืองนำไปสู่การสูญเสียแกนนำคนสำคัญและผู้ที่เกี่ยวข้องถึงสี่คน เมื่อปี พ.ศ.2537 บุญรอด ด้วงโคตะและสนั่น สุขวรรณ คือแกนนำที่ต่อสู้ในช่วงแรกโดยเป็นผู้รวบรวมรายชื่อชาวบ้านเพื่อนำมาคัดค้านการทำเหมือง การสูญเสียยังไม่จบสิ้น เมื่อปี พ.ศ.2542 ทองม้วน คำแจ่ม กำนันตำบลดงมะไฟและสม หอมพรมมา แกนนำต่อต้านเหมืองหินถูกยิงเสียชีวิตอีกครั้ง
      นายสมควร ระบุว่าในช่วงที่มีการต่อสู้คัดค้านการทำเหมืองมีผู้เสียชีวิตทั้งหมดสี่คน แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าสาเหตุการตายมาจากสาเหตุอะไร แต่ทั้ง 4 คนที่เสียชีวิตเป็นแกนนำหลักที่พาชาวบ้านต่อสู้ “ส่วนสาเหตุที่แท้จริงเราไม่รู้ แต่ว่าเสียชีวิตด้วยอาวุธร้ายแรง เขาเรียกว่าอาวุธสงครามไม่ใช่ปืนธรรมดา” คำบอกเล่าของนายสมควรแกนนำที่ยังคงต่อสู้อยู่
      อีกทั้งยังมีแกนนำที่ถูกออกหมายจับถึง 12 คน ในข้อหาวางเพลิง แต่ผู้ที่โดนหมายจับส่วนใหญ่เป็นคนแก่ จึงมีเพียงนายเอกชัย ศรีพุทธาและแกนนำชาวบ้านซึ่งอยู่ในเหตุการณ์อีกหนึ่งคนยอมติดคุกแทน ภายหลังได้รับการประกันตัวออกมาด้วยตำแหน่งของครูทั้งหมด 12 คน เข้าสู้กระบวนการต่อสู้คดีความและใช้เวลาตัดสินนานถึงสองปี
      นายสมควร ยังกล่าวถึงสาเหตุของการลุกขึ้นต่อสู้ ข้อที่ 1 คือความไม่ถูกต้อง เนื่องจากเอกสารประทานบัตรที่ผู้ประกอบการใช้นั้นไม่ถูกต้อง มีการทำประชาคมปลอม รวมทั้งมติ อบต. ก็ไม่ถูกหลักการ ข้อที่ 2 คือผลกระทบต่อแหล่งหากินซึ่งภูผาฮวกเป็นพื้นที่เก็บของป่า อาหารป่าของชาวบ้านในแต่ละปีชาวบ้านได้พึ่งพาเก็บหน่อไม้เฉลี่ยครอบครัวละ 150 กก. ต่อปี หลังจากการเข้ามาของเหมือง แหล่งอาหารและแหล่งธรรมชาติกลับลดลง ชาวบ้านที่มีรายได้ไม่เพียงพออยู่แล้วเกิดปัญหารายจ่ายเพิ่มขึ้นรายได้ลดลง
      นายสมควร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เรื่องเอกสารปลอมชาวบ้านได้มีการฟ้องร้องต่อศาลอาญาหนองบัวลำภู โดยผู้ปลอมแปลงเอกสารทั้งสามคนรับสารภาพ และศาลได้ตัดสินลงโทษทั้งสามคน ทางด้านผู้ประกอบการออกมายอมรับว่ามีการนำเอกสารไปใช้จริง แต่ปฏิเสธโดยไม่ทราบว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม ศาลจึงตัดสินว่าไม่ได้มีเจตนากระทำความผิดและยกฟ้องในที่สุด
      ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ชาวบ้านได้ร่วมกันเดินทางไปประท้วงเพื่อปิด อบต. เหมืองดงมะไฟ หลังจากที่นายธีรสิทธิ์ ตรีวัฒน์สุวรรณ ผู้ประกอบการเหมืองหินปูนได้ยื่นจดหมายเรื่องขอให้จัดประชุมสภา อบต. ดงมะไฟ เพื่อพิจารณาวาระการขอต่ออายุใบอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเก่ากลอยและป่านากลาง เพื่อทำเหมืองหินปูนของบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด ไปอีกสิบปี คือตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 – กันยายน 2573 บรรจุไว้ในวาระการประชุม ซึ่งจดหมายฉบับดังกล่าว เป็นเอกสารเปิดเผยที่ประธานสภาฯ แนบส่งไปกับหนังสือเชิญประชุมสภา อบต.ดงมะไฟ สมัยประชุมสามัญ สมัยแรกประจำปี 2563 ส่งให้กับผู้ใหญ่บ้านและลูกบ้านให้มีส่วนร่วมในการประชุมสภา และเพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นถึงความโปร่งใสตรวจสอบได้
      นายสมควร เปิดเผยข้อความบางส่วนในจดหมาย มีข้อความว่า "ขอให้ อบต. ดำเนินการ ประชุมเพื่อหามติให้ข้าพเจ้าได้ต่ออายุประทานบัตร เนื่องจากข้าพเจ้าเคยขอให้ อบต. ทำมาแล้วถึงสองครั้ง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ถ้าหากครั้งนี้ไม่ประสบผลสำเร็จผู้ประกอบการจะดำเนินคดีกับ อบต. ให้ถึงที่สุดหากทำให้เขาเสียหาย"
      ด้านชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยร่วมใจกันไปที่ อบต. เพื่อคัดค้านการนำเรื่องการต่ออายุประทานบัตรเข้าสู่วาระการประชุม จนในวันเดียวกัน อบต. ได้ออกหนังสือเรื่องขอเลื่อนการประชุมสภา อบต. ดงมะไฟ สมัยประชุมสามัญ สมัยแรกประจำปี 2563 ถึง นายสมควร เรียงโหน่ง ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันไดและพวก
      เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย สภาองค์การบริหารส่วนตำบลดงมะไฟพิจารณาแล้ว จึงได้เลื่อนการประชุมบางส่วนออกไป โดยยืนยันว่ายังไม่มีการพิจารณาการต่อใบอนุญาตเพื่อทำเหมืองแร่ดังกล่าว จนกว่าจะมีการดำเนินการประชุมประชาคมหมู่บ้าน จำนวน 6 หมู่บ้านแล้วเสร็จ จึงจะนำเข้าสู่วาระการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาการต่ออายุใบอนุญาตเพื่อทำเหมืองแร่ต่อไป
      จากที่ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่เหมืองหินปูน ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู พบว่ากำลังมีการระเบิดที่ภูผาฮวก โดยมีพื้นที่ที่ระเบิดไปแล้วประมาณ 30 ไร่ ก่อนระเบิดเหมืองจะมีการเปิดสัญญาณเตือนล่วงหน้า 30 นาที ในช่วงแรกเสียงระเบิดดังไปไกลถึงหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือชาวบ้านที่ทำนาอยู่บริเวณใกล้เคียงเขตเหมืองเพราะรัศมีที่เศษหินเศษดินจะกระเด็นออกเป็นวงกว้างกินพื้นที่ประมาณ 2 – 3 ร้อยเมตร ชาวบ้านจะต้องรีบหนีออกจากบริเวณดังกล่าว กระทั่งการระเบิดหยุดลงจึงสามารถกลับมาทำนาต่อได้
      ชาวบ้านผู้ที่เป็นแกนนำในการคัดค้านและผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการทำเหมืองแร่ อธิบายถึงผลกระทบที่ได้รับดังนี้ 1.ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน สูญเสียแหล่งทำมาหากินเนื่องจากภูเขาลูกนั้นเป็นป่าหน่อไม้ ป่าเห็ด และป่าสมุนไพร 2.ฝุ่นละอองฟุ้งกระจายไปตามแหล่งทำมาหากิน ซึ่งในปีนี้พื้นที่บริเวณใกล้เคียงเหมืองไม่สามารถทำนาได้ สาเหตุมาจากฝุ่นละอองจากการระเบิดเหมือง 3.ถนนที่ใช้สัญจรไปมา ชาวบ้านเรียกว่าเส้นทางเกษตร โดยชาวบ้านได้แบ่งที่นาส่วนหนึ่งเพื่อทำถนนเส้นดังกล่าว เมื่อการสร้างเหมืองเกิดขึ้น ก็มีรถบรรทุกหินเข้ามาใช้เส้นทางนี้ร่วมกับชาวบ้าน ส่งผลให้รถของชาวบ้านอย่างรถจักรยานยนต์ รถยนต์ อีกทั้งรถเพื่อการเกษตรอื่นๆ สัญจรยากขึ้นเนื่องจากเส้นทางคับแคบ 4.บริเวณที่ทำเหมืองมีลำธารไหลผ่านเมื่อน้ำไหลลงมาจะกวาดหินปูนลงมาตามกระแสน้ำ ทำให้น้ำเสียซึ่งมีผลกระทบต่อต้นน้ำลำธาร สัตว์น้ำไม่อุดมสมบูรณ์อย่างที่ควรจะเป็น 5.ผลกระทบอีกหนึ่งอย่างคือโบราณวัตถุ ชาวบ้านพบไหโบราณตรงบริเวณต้นน้ำ บริเวณผาน้ำรอด และที่ภูผายาใกล้กับบริเวณโรงโม่ ซึ่งมีภาพเขียนสีอยู่ในบริเวณดังกล่าวด้วย
      ช่วงหน้าแล้งเศษฝุ่นยิ่งกระจายไปไกล ชาวบ้านชี้ให้ดูภูเขาลูกหนึ่งที่อยู่ใกล้กับบริเวณที่มีการระเบิดเหมือง สภาพต้นไม้ขาวโพลนเต็มไปด้วยฝุ่นหินปูนเกาะอยู่เต็มภูเขาเกือบทั้งลูก ชาวบ้านเล่าต่อว่าทุกปีจะไม่เป็นแบบนี้ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และอาชีพของชาวบ้านแล้ว ยังกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก กระทบจิตใจชาวบ้านที่รักและหวงแหนพื้นที่ป่า มีความรักความผูกพันเพราะใช้เป็นแหล่งทำมาหากิน เป็นเหมือนสมบัติที่ต้องรักษา
      “แม้มันจะไม่ชนะก็ไม่เป็นไร แม้จะไม่ได้อะไรก็ตามเพราะเราใจรักอยู่แล้ว แม้ไม่ได้อะไรก็ถือว่าคุ้ม ถือว่าได้ทำความดีแล้ว” เสียงของชาวบ้านผู้ต่อสู้มามากกว่า 26 ปี บอกเล่าถึงความคุ้มค่าของการต่อสู้ และคาดหวังว่าจะไม่มีการต่ออายุประทานบัตรใบที่สามอีก หวังให้จบลงแค่ใบที่สองภายในปีนี้ หากยังไม่จบในเดือนกันยายน อาจจะมีการปิดเหมืองเนื่องจากเป็นพื้นที่เกษตรที่ชาวบ้านใช้มาก่อนที่จะมีเหมือง และหากต้องมีการปิดเหมืองจริงจะมีแนวร่วมที่มีการประท้วงคัดค้านการทำเหมืองมาร่วมกันจากทั่วประเทศ

Top