รัฐบาลทุ่มงบ 3,930 ล้านบาท สร้างสะพานมิตรภาพไทย - ลาวแห่งที่ 5 บึงกาฬ – แขวงบอลิคำไซ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจยางพารา การคมนาคมขนส่ง เศรษฐกิจการท่องเที่ยวแถบภาคอีสาน ด้านนักวิชาการมองว่าเศรษฐกิจยางพาราหลังการสร้างสะพานแล้วเสร็จจะมีแนวโน้มที่ดี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับทิศทางเศรษฐกิจยางพาราภาพรวมของประเทศไทย
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง ได้ให้ข้อมูลว่า การสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 จะช่วยกระตุ้นการขยายตัวด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และท่องเที่ยวระหว่างไทยกับลาว รวมถึงทำให้การขนส่งสินค้าจากไทยไปสู่ตลาดจีนตอนใต้คล่องตัวขึ้น โดยเฉพาะ “ยางพารา” ที่เป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดบึงกาฬ และยังเปิดเส้นทางท่องเที่ยว 3 ประเทศใน 1 วัน (One day trip) “ไทย-ลาว-เวียดนาม” หลังการคมนาคมเชื่อมโยงถึงกันได้อีกด้วย
ในส่วนของงบประมาณการก่อสร้างนั้น ฝ่ายไทยใช้เงินงบประมาณในการดำเนินโครงการแบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 2,553 ล้านบาท ค่าควบคุมงาน 77 ล้านบาท รวมค่างานที่ฝ่ายไทย ต้องรับผิดชอบทั้งสิ้น 2,630 ล้านบาท ส่วนฝ่าย สปป.ลาว ใช้เงินกู้จากสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 1,256 ล้านบาท ค่าควบคุมงาน 44 ล้านบาท รวมค่างานที่ฝ่าย สปป.ลาว ต้องรับผิดชอบทั้งสิ้น 1,300 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโครงการรวมทั้งสิ้น 3,930 ล้านบาท คาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างประมาณ 36 เดือน
นายกรกต ธำรงวงศ์สวัสดิ์ รองผู้ว่าราชจังหวัดบึงกาฬ กล่าวถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ ที่หน่วยงานภาครัฐได้จัดทำขึ้นว่ามีความสำคัญและเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) เป็นโครงการหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจจากประชาชนทุกภาคส่วนในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬและจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่บริเวณโครงการตัดผ่าน เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ระดับชาติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬเป็นบริเวณกว้าง การที่กรมทางหลวงโดยแขวงทางหลวงบึงกาฬจัดให้มีการประชุมในวันนี้ ย่อมทำให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการอันจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
ดร.ปิยะ ชูตินันท์ รองผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการทางหลวงระหว่างประเทศ เผยว่า ทางรัฐบาลของทั้งสองประเทศมีการเริ่มต้นพูดคุยกันแล้วในสะพานมิตรภาพแห่งต่อไปแล้ว ซึ่งอาจมีหนึ่งถึงสองแห่ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของทั้งสองประเทศและความชัดเจนในการหารือ แต่สะพานมิตรภาพแห่งต่อไปที่มีความชัดเจนมากที่สุดคือสะพานมิตรภาพแห่งที่ 6 ที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเชื่อมต่อกับทางสาละวันของสปป.ลาว
อาจารย์ ดร.เกศินี หล้าวงศ์ อาจารย์คณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจยางพาราของบึงกาฬหลังจากการสร้างสะพานไทยลาวแห่งที่ 5 แล้วเสร็จว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความสัมพันธ์กับประเทศที่อยู่ข้างๆ ลุ่มแม่น้ำโขง อย่างลาว เวียดนาม พม่า ในส่วนของการทำเศรษฐกิจร่วมกันมีโอกาสเติบโตขึ้นได้ เพียงแต่มีแม่น้ำขวาง รัฐบาลจึงมีโครงการที่จะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงขึ้น
หากมีการติดตามข่าวสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 1 คือหนองคาย - ลาว พบว่า เศรษฐกิจระหว่างชายแดนมีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดดทุกปี และในส่วนของสะพานแห่งที่ 5 นี้ วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของรัฐบาลอาจเป็นการผลักดันด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากพืชเศรษฐกิจของเมืองไทยหลักๆ คือยางพารา จากข้อมูลพื้นที่ที่มีการปลูกยางพารามากที่สุดในประเทศไทยคือภาคใต้ และในโซนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพื้นที่ที่ติดสิบอันดับเป็นส่วนของบึงกาฬ
รัฐบาลได้เจาะจงที่จะมาสร้างสะพานแห่งนี้ เพื่อตอบโจทย์ด้านเศรษฐกิจยางพารา แนวโน้มด้านเศรษฐกิจต้องดูในส่วนของมาตราการ ซึ่งจากข้อมูลพบว่ารัฐบาลมีความพร้อมในเลือกให้บึงกาฬเป็นแหล่งเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทย
บึงกาฬมีพื้นที่ในการทำเกษตรค่อนข้างมาก พื้นที่ปลูกยางพารามีประมาณ 1.2 ล้านไร่ และปกติบึงกาฬมีการส่งออกยางพาราไปประเทศจีนถึง 70-80% ซึ่งการขนส่งแบบเดิมต้องใช้เวลาและต้นทุนในการลำเลียงขนส่ง รัฐบาลอาจเล็งเห็นว่าควรสร้างสะพานสร้างแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 นี้ เพราะหากสะพานแล้วเสร็จจะสามารถลำเลียงยางพาราผ่านสะพานข้ามแม่น้ำโขง ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาในการขนให้เร็วขึ้น
อาจารย์ ดร.เกศินี มองว่าบึงกาฬมีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับในส่วนของเศรษฐกิจที่จะเติบโตในอนาคต ขณะเดียวกันทีมงานหรือคนในพื้นที่ของบึงการเองก็มีความพร้อมเช่นเดียวกัน เนื่องจากคนส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจในส่วนของธุรกิจยางพารา มีวิสาหกิจชุมชน และชุมชนสหกรณ์กว่า 10 สหกรณ์ ซึ่งทำเกี่ยวกับยางพารา อีกทั้งบึงกาฬมีธุรกิจต้นน้ำอันเป็นพื้นที่ยางพาราซึ่งมีมากกว่าล้านไร่ที่ปลูกเตรียมไว้ มีธุรกิจกลางน้ำอย่างโรงงานยางน้ำข้น โรงยางแผ่น โรงงานยางแท่ง และมีธุรกิจปลายน้ำที่มีส่วนในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ในตอนนี้ศักยภาพของบึงกาฬมีความพร้อมแล้วที่จะรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจ
ประเด็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นและรัฐบาลกำลังแก้ไข คือจังหวัดบึงกาฬมีพื้นที่ Dead end คือทางตัน ไม่ค่อยมีทางออก สิ่งที่รัฐบาลมองคือการทำให้เกิดการคมนาคมขนส่ง เพราะฉะนั้นในตอนนี้บึงกาฬกำลังจะได้รับการแก้ไขปัญหานี้อยู่ นักลงทุนจากต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในส่วนของการคมนาคม ระบบการจัดการส่งสินค้า และเริ่มมีการลงทุนในส่วนของโครงสร้างขั้นพื้นฐานขนาดใหญ่ และหากสะพานสร้างเสร็จ มีถนนหนทาง หรือแม้แต่ระบบรางที่รัฐบาลกำลังพิจารณาอยู่ จะตามมาด้วยในส่วนของการท่องเที่ยว ในอนาคตข้างหน้าอาจไม่ใช่แค่ธุรกิจยางพารา ซึ่งจะรวมไปถึงธุรกิจอื่นๆ ด้วยที่จะประสบความสำเร็จ
ทั้งนี้ ต้องกลับมาที่เศรษฐกิจยางพาราภาพรวมของประเทศ ปัญหาหลักๆ ในการทำธุรกิจยางพารา คือ
1. ราคาน้ำยางที่ต่ำกว่าราคาในความเป็นจริง รัฐบาลจะต้องแก้ไขปัญหาในส่วนของตัวราคายางพาราให้ได้
2. Supply Over อุปทานเกินความจำเป็น สิ่งที่รัฐบาลกำลังตั้งใจจะทำคือพยายามลดซัพพลายของการผลิตน้ำยาง เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ แต่ราคายางพาราต้องกลับมาสูงเหมือนเดิม