อดีตรองอธิการบดีฯ เผย แต่ละคณะหรือหลักสูตรที่มีภาคเรียนปฏิบัติ ต้องได้รับวัคซีนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 และเว้นระยะห่างเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ฝ่ายวิชาการขอความร่วมมือให้นิสิตทุกคนดาวน์โหลด MSU Health Care เพื่อความปลอยภัย ด้านนิสิตเห็นว่า ภาคเรียนนี้ยังไม่มีความพร้อมที่จะเรียนแบบออนไซต์ และจำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้ครบโดส เพื่อที่จะเข้าเรียนแบบออนไซต์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มลฤดี เชาวรัตน์ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารและนโยบาย กล่าวว่า ช่วงภาคเรียนที่ 2/2564 ทางมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้หารือกับทุกคณะทุกหน่วยงานรวมถึงผู้นํานิสิตเกี่ยวกับการเปิดเรียนในรูปแบบออนไซต์ และมีมติให้คณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ คณะแพทย์ คณะเภสัชศาสตร์และพยาบาล จัดการเรียนรูปแบบออนไซต์เป็นกลุ่มแรก และต้องได้รับฉีดวัคซีนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 อีกทั้งในช่วงที่มีการจัดการเรียนการสอนต้องมีการเว้นระยะห่าง เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19
รองศาตราจารย์ ดร. อรวิชญ์ กุมพล อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนานิสิต กล่าวว่า เบื้องต้นให้แต่ละคณะตรวจสอบเรื่องการได้รับวัคซีนของนิสิต ซึ่งขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยได้สร้างเว็บไซต์เพื่อตรวจสอบโดยมีการเชื่อมต่อเว็บไซต์ชื่อ vaccine.msu.ac.th เข้ากับกระทรวงสาธารณะสุข เพื่อเป็นการเฝ้าสังเกตจํานวนผู้ที่ได้รับวัคซีนและอัพเดทข้อมูลในช่วงเวลา 15:00 น. ของทุกวัน หากบุคลากรและนิสิตรับวัคซีนมากกว่าร้อยละ 90 จึงจะอนุญาตให้เข้ามาเรียนแบบออนไซต์ได้
อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนานิสิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงที่มีการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน มหาวิทยาลัยร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ เตรียมการจัดหาอุปกรณ์ในการตรวจหาเชื้อ เพื่อให้นิสิตได้รับการตรวจโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เนื่องจากการเรียนแบบออนไซต์ต้องมีการแสดงผลการตรวจ พร้อมหลักฐานการรับวัคซีน และในกรณีที่มีนิสิตติดเชื้อโควิด-19 ทางมหาวิทยาลัยจะประสานงานระหว่างกองกิจการนิสิต กองทะเบียนและประมวลผล และหน่วยงานของกองประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัย โดยมีการเฝ้าสังเกตอาการทุกครั้ง จากการประสานงานไปที่โรงพยาบาลสุทธาเวช ให้ส่งเอกซเรย์ เพื่อเข้ารับการรักษา
รศ.ดร.อรวิชญ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอความร่วมมือให้นิสิตดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน MSU Health Care หลังจากติดตั้งเสร็จ จำเป็นต้องมีการบันทึกข้อมูลอาการของนิสิตในแต่ละวัน และต้องเปิดการเข้าถึงตำแหน่งในสมาร์ทโฟน เพื่อตรวจสอบว่านิสิตมีการรวมกลุ่มอยู่ที่ไหนบ้าง เช่น ถ้ากรณีนิสิตอยู่ในห้องเรียน แอปพลิเคชันจะสามารถประมวลผลได้ว่า ขณะนี้มีนิสิตอยู่ร่วมกันประมาณ 30 คน เป็นต้น แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่าย
ต่อมาเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้มีการประชุมหารืออีกครั้ง เกี่ยวกับมาตรการการเรียนการสอนในช่วงหลังสอบกลางภาค ในภาคเรียนที่ 2/2564 โดยในที่ประชุมมีมติให้ทุกคณะหรือวิทยาลัยที่มีรายวิชาภาคปฏิบัติหรือบัณทิตศึกษา สามารถเรียนแบบออนไซต์ได้ และให้แต่ละคณะกำหนดมาตรการร่วมกับอาจารย์ผู้สอนและนิสิต โดยไม่กระทบต่อนิสิตและอาจารย์ในเรื่องของที่พักและอื่น ๆ ส่วนการเปิดภาคเรียนปีการศึกษาต่อไป 1/2565 ทางมหาวิทยาลัยอาจพิจารณาการเปิดภาคเรียนแบบออนไซต์ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น
ด้านนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ให้ความเห็นว่า ขณะทั้งทางมหาวิทยาลัยและนิสิตยังไม่พร้อมที่จะเปิดภาคเรียนแบบออนไซต์ เนื่องจากกังวลเรื่องของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่อาจกลับมาระบาดอีกรอบ ทั้งยังมองว่าหลักสูตรไหนที่ไม่มีความจำเป็นต้องเรียนภาคปฏิบัติ ก็ให้เรียนแบบออนไลน์ หรือถ้ามีการสอนแบบออนไซต์อยากให้มีการสลับกลุ่มการเรียน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเพื่อนและอาจารย์มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้นิสิตยังเสนอแนะเพิ่มเติมว่า อยากให้ทางมหาวิทยาลัยประกาศกฎออกมาให้ชัดเจน เพื่อที่นิสิตจะได้รับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที สำหรับนิสิตที่ต้องเรียนหลักสูตรแบบออนไซต์ เห็นว่า ในกรณีที่ต้องมาเรียนในมหาวิทยาลัย ต้องได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มขึ้นไป จึงจะสามารถเข้ามาเรียนแบบออนไซต์ได้ รวมถึงนิสิตที่ยังได้รับวัคซีนยังไม่ครบ ต้องมีการแสดงผลการตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อเป็นหลักฐานยันยืนว่าติดโควิดหรือไม่