“ผอ.กองอาคารและสถานที่ และหัวหน้างานออกแบบ ชี้แจงถึงประเด็นปัญหาทางเท้ารอบมมส. ถึงแนวทางในการก่อสร้างและปรับปรุงทางเท้าและพื้นที่อื่น ๆ ในอนาคต”
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์ นางฉันทลักษณ์ สาชำนาญ ผู้อำนวยการกองอาคารและสถานที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และนายปรีชา โนนไธสง หัวหน้างานออกแบบและควบคุมอาคารและสิ่งก่อสร้าง ถึงประเด็นปัญหาทางเท้ารอบรั้วมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อติดตามถึงแนวทางในการก่อสร้างและปรับปรุงแก้ไขทางเท้าของทางมหาวิทยาลัยในอนาคตต่อไป
โดยนางฉันทลักษณ์ สาชำนาญ ผู้อำนวยการกองอาคารและสถานที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ชี้แจงถึงการก่อสร้างทางเท้ารอบมมส. ว่าในอนาคตมหาวิทยาลัยจะมีนโยบายในการปรับปรุงพัฒนาทางเท้าสำหรับผู้ใช้ทางเท้าไม่ว่าจะเป็นบุคลากร นิสิต นักเรียน หรือบุคคลทั่วไป ให้เกิดความสะดวกสบายและความปลอดภัยมากที่สุด อีกทั้งการปรับปรุงพัฒนาถนน พื้นที่สวน หรือแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ พื้นที่ที่นิสิตจะต้องเข้ามาใช้งานเป็น Working space ให้ได้มาเรียนรู้ หรือนั่งพักผ่อน ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการสำรวจไปแล้ว ตอนนี้อยู่ระหว่างการเขียนแบบ การของบประมาณ และดำเนินการต่อไป
ในการปรับปรุงพัฒนาทางเท้าจะแบ่งเป็นระยะ ๆ ซึ่งระยะที่ 1 จะเป็นการซ่อมแซมทางเท้าหน้าอาคารพละไปจนถึงแยกคอนโดอาจารย์บริเวณหน้าพื้นที่สวนชุ่มน้ำ หน้าคณะสาธารณสุขศาสตร์ ซึ่งอยู่ในระหว่างกำลังดำเนินการ ส่วนในปีงบประมาณปี 2566 คือ ระยะที่ 2 จะเป็นพื้นที่โซนคณะวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับนโยบาย และอะไรหลาย ๆ อย่างที่จะต้องดำเนินการ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องงบประมาณ แต่เป็นเรื่องของการใช้พื้นที่จะต้องทำให้เป็นโซน ให้เสร็จเป็นพื้นที่หรือเป็นแห่ง ๆ ไป
ส่วนประเด็นทางเท้าหน้าคณะต่าง ๆ ที่มีการขาดช่วงและไม่ครอบคลุมพื้นที่นั้น ด้านนางฉันทลักษณ์ เผยว่า ต้องดูไปตามพื้นที่ หากบริเวณจุดนั้นมีพื้นที่ว่างพอที่จะทำทางเท้าเพิ่มจะดำเนินการปรับปรุงเพิ่มเติม แต่หากบางพื้นที่ที่ไม่สามารถก่อสร้างทางเท้าเพิ่มเติมได้ ต้องปล่อยให้เป็นไปตามสภาพ ซึ่งอาจต้องมาใช้ถนนร่วมกันระหว่างพื้นที่รถสัญจรกับพื้นที่คนเดิน ซึ่งต้องเพิ่มความระมัดระวัง และสิ่งสำคัญคือต้องเห็นถึงความสำคัญของการสร้างทางเท้าในบริเวณนั้น ซึ่งหากเป็นพื้นที่ที่อยู่ในจุดอับ ด้านหน่วยงานไม่อาจสร้างให้เป็นพื้นที่สัญจรได้ เนื่องจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นยามค่ำคืน แต่หากเป็นไปได้อยากจะให้มีพื้นที่สำหรับการเดินรอบมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการลดการใช้พลังงาน ตามนโยบายของมหาวิทยาลัยในการที่อยากจะลดการใช้พลังงาน ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์เช่นกัน ซึ่งสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นต้องมองถึงความจำเป็นและความเป็นไปได้ในการสร้างทางเท้า
ด้านนายปรีชา โนนไธสง หัวหน้างานออกแบบและควบคุมอาคารและสิ่งก่อสร้าง กองอาคารและสถานที่ เผยถึงการก่อสร้างหน้าอาคารพละว่า ร่องตรงกลางพื้นที่ก่อสร้างหน้าอาคารพละนั้น ตามแบบแผนในการก่อสร้าง จะมีลักษณะเป็นบล็อกทางเดินที่นูนขึ้นมา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ให้คนพิการทางสายตา หรือ เบรลล์บล็อก (Braille Block) ซึ่งทั้งโครงการจะมี เบรลล์บล็อก (Braille Block) ตลอดเส้น ไปจนถึงแยกคอนโดอาจารย์ โดยขณะนี้ไม่ได้หยุดการก่อสร้าง แต่ทางผู้รับเหมามีปัญหาด้านแรงงาน การดำเนินงานจึงไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ซึ่งทางมหาวิทยาลัยก็ได้มีการเร่งรัดทุกครั้งที่มีการประชุม เพื่อให้ทางเท้าบริเวณดังกล่าวเสร็จสิ้นตามกำหนดสัญญา
โดยส่วนระยะเวลาการก่อสร้างที่คาดว่าจะแล้วเสร็จ นายปรีชา เผยว่า ตอนนี้ได้ล่วงเลยระยะเวลาเสร็จตามสัญญามาแล้ว ซึ่งจะมีการโดนค่าปรับและทางผู้รับเหมาก็ยินดีที่จะให้ปรับ จึงคาดว่าประมาณ 2 เดือน จะดำเนินการแล้วเสร็จทั้งโครงการ โดยขณะนี้จำเป็นต้องสังเกตการณ์ดำเนินการก่อสร้างต่อไป หากมีการก่อสร้างเสร็จล่าช้ากว่ากำหนด ทางกรรมการก็จะมีระเบียบพัสดุที่มีข้อการปรับการยกเลิกสัญญาต่อไป
ซึ่งในขณะนี้ มีการก่อสร้างทางเท้าสำหรับให้ผู้พิการทางสายตาได้ใช้งานร่วมกัน ตั้งแต่บริเวณหน้าอาคารพละไปจนถึงบริเวณสี่แยกไฟแดง และจะมีการดำเนินงานในระยะที่ 2 คือ เส้นทางของคณะวิทยาศาสตร์ไปจนถึงหน้าคณะพยาบาลศาสตร์ต่อออกมาบริเวณแยกไฟแดงพิพิธภัณฑ์ อยู่ในระหว่างการดำเนินการ และด้านทางเท้าบริเวณคณะวิศวกรรมศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณา ซึ่งต้องดูความเหมาะสมต่อไป