นักวิจัย มมส ย้ำ เปราะนภาวรรณถูกพบมานานโดยคนในพื้นที่ แต่ไม่มีการรับรองทางวิทยาศาสตร์ เผยเพิ่มเติม เมื่อได้รับการศึกษาวิจัยจึงกลายเป็นพืชวงศ์ขิงชนิดใหม่ของโลก
รศ.ดร. สุรพล แสนสุข อาจารย์ประจำหลักสูตรความหลากหลายทางชีวภาพ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หนึ่งในคณะผู้วิจัยเผยว่า จุดเริ่มต้นของการทำวิจัยครั้งนี้เกิดจาก รศ.ดร. สุรพลได้มีการศึกษาความหลากหลายของพืชวงศ์ขิงและการใช้ประโยชน์ของพืชวงศ์ขิง ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมไปถึงพื้นที่ใกล้เคียงและพื้นที่เขตรอยต่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดเพชรบูรณ์ ลพบุรี นครสวรรค์ จนได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) BEDO โดยมี รศ.ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ นักวิทยาศาสตร์อาวุโสเป็นผู้คอยสนับสนุน เเละเป็นผู้ดูแลความหลากหลายทางชีวภาพในส่วนต่าง ๆ ของประเทศไทย
รศ.ดร. สุรพล เผยอีกว่า การค้นพบเปราะนภาวรรณ เกิดจากชาวบ้านในพื้นที่ทราบว่า รศ.ดร.สุรพล ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพืชวงศ์ขิง ชาวบ้านจึงได้มีการส่งรูปภาพเปราะชนิดหนึ่งให้กับทาง รศ.ดร.สุรพล พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พืชชนิดนี้มีการรับประทานในชุมชนมานานแล้ว จากนั้นคณะผู้วิจัยได้ทำการลงพื้นที่ตรวจสอบ จึงได้พบว่าพืชชนิดนี้มีลักษณะพิเศษเฉพาะไม่เหมือนพืชชนิดใด แต่ในการลงพื้นที่ก็มีอุปสรรค เพราะพืชวงศ์ขิงเป็นพืชที่เกิดขึ้นเฉพาะในฤดูฝนหรือต้นฤดูฝนเท่านั้น อีกทั้งยังมีลักษณะลำต้นขนาดเล็ก ออกดอกน้อยและมีใบที่แบน ขึ้นอยู่ตามโขดหินในป่าหรือภูเขาสูง และไม่ได้กระจายพันธุ์เป็นวงกว้าง พบแค่เฉพาะในจังหวัดนครสวรรค์บางอำเภอเท่านั้น ต้องใช้เวลานานพอสมควรในการค้นหาพืชชนิดนี้เพื่อนำเอาตัวอย่างกลับมาศึกษา คณะผู้วิจัยใช้ระยะเวลา 1 ปี ในการศึกษา จนนำไปสู่การค้นพบ เปราะนภาวรรณ พืชวงศ์ขิงชนิดใหม่ของโลกสำเร็จ