หรือจุดสิ้นสุดของปลาบึกคือการสูญพันธุ์
มนุษย์สร้างพิษชีวิตใต้น้ำผกผัน
วงจรถูกทำลาย ปลาบึกไม่เกยตื้น
เร่งเวลาอวสานวงจรปลาบึกจากน้ำมือมนุษย์
ปลาบึกสุดท้าย
แรงกระเพื่อมอันแผ่วเบาของหัวใจแห่งลุ่มน้ำโขง “ปลาบึก” ยักษ์ใหญ่แห่งมหานทีที่ใกล้จะสูญพันธุ์จากการล่าของมนุษย์ ทั้งการล่าเพื่อบริโภคและการล่าเพื่อความสนุกสนาน ซึ่งปลาบึกที่ใกล้สูญสิ้นนี้เป็นเพียงสาเหตุหนึ่งจากการกระทำทั้งหมดของมนุษย์ที่ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในหลายๆ เรื่อง ทว่ากลับสร้างคลื่นกระทบมหาศาลให้กับชาวบ้านและชาวประมงริมแม่น้ำโขงมากเหลือคณานับ
โดยธรรมชาติแล้วปลาบึกนั้นอาศัยอยู่ในแม่น้ำโขง ตั้งแต่ประเทศจีน, ลาว, พม่า, ไทย เรื่อยมาตลอดความยาวของแม่น้ำ รวมไปถึงแควสาขาต่างๆ เช่นแม่น้ำงึม, แม่น้ำมูล, แม่น้ำสงคราม แต่ไม่พบในตอนปลายของแม่น้ำโขงที่เป็นน้ำกร่อย ปัจจุบันปลาบึกจึงเป็นปลาซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เนื่องจากมีการจับปลามากเกินไป และคุณภาพน้ำที่แย่ลงจากการพัฒนาและการสร้างเขื่อนบริเวณต้นน้ำ ซึ่ง UCN จัดปลาบึกอยู่ในกลุ่ม Critically Endangered ซึ่งเป็นการจัดกลุ่มสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นอย่างมาก และติดอยู่ในบัญชีไซเดสกลุ่ม 1 ชนิดสัตว์ป่าและซากของสัตว์ป่าท้ายบัญชีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ลำดับที่ 909
อ้างอิงข้อมูลจากกรมประมง ปลาบึกเป็นปลาไม่มีเกล็ดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ขนาดโตเต็มที่มีความยาวประมาณ 3 เมตร มีน้ำหนักมากกว่า 250 กิโลกรัม มีรูปร่างเพรียวยาว แบนข้างเล็กน้อย ดวงตามีขนาดเล็ก ไม่มีฟัน มีหนวดสั้นๆ ซ่อนอยู่ในร่องตรงบริเวณมุมปาก ในขณะมีชีวิตสีลำตัวทางด้านหลังจะเป็นสีเทาออกแดง ก่อนจะค่อยๆ กลายเป็นสีเทาแกมฟ้าทางด้านข้าง และมีสีขาวบริเวณใต้ท้อง มีจุดดำจุดหนึ่งทางด้านข้างตรงตำแหน่งปลายสุดของครีบหู จุดดำอีกสามจุดบนครีบหาง ครีบทุกครีบเป็นสีเทาจางๆ ซึ่งชื่อของปลาบึกที่เป็นที่รู้จักทั่วไปคือ Mekong Giant Catfish มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pangasianodon Gigas เป็นปลาที่กินพืชเป็นอาหาร
ข้อมูลจากไลน์ทูเดย์ เมื่อปี 2562 องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ได้เปิดเผยตัวเลขเกี่ยวกับสถิติการจับปลาบึกในช่วงปี 2529-2538 ที่สามารถจับปลาบึกได้รวมกันถึง 362 ตัว ในขณะที่ช่วงปี 2539-2549 หรือหลังจากที่มีการสร้างเขื่อนบริเวณต้นแม่น้ำโขงพบว่า สามารถจับปลาบึกรวมกันได้เพียง 48 ตัวเท่านั้น จากข้อมูลดังกล่าวทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า การสร้างสิ่งปลูกสร้างที่ขวางกั้นลำน้ำโขงได้กลายเป็นอุปสรรคต่อการขยายพันธุ์ของปลาบึกหรือไม่? เพราะนอกจากปลาบึกขนาดใหญ่พร้อมผสมพันธ์ที่จับได้นั้นยังไม่เคยมีใครพบเห็นลูกปลาปึกในธรรมชาติเลย
ปัจจุบัน ปลาบึกที่มีขายหรือแม้แต่ที่ถูกจับได้จากธรรมชาตินั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการผสมเทียมโดยกรมประมงทั้งสิ้น และลูกปลาเหล่านั้นจะถูกนำไปปล่อยไปในแหล่งน้ำหลายแห่งในประเทศไทย อาทิ เขื่อนบางลางจังหวัดยะลา, เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และบ่อน้ำภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม โดยมีการกำหนดช่วงระยะเวลาการจับปลาบึก และกำหนดปริมาณที่จับปลาบึกได้อย่างชัดเจน เช่น ที่เขื่อนแก่งกระจาน มีการปล่อยปลาบึกลงแหล่งน้ำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 ซึ่งมีการกำหนดช่วงเวลาในการจับปลาบึกคือปลายปีถึงต้นปี เนื่องจากเป็นช่วงฤดูหนาวที่มีอุณหภูมิต่ำ ปลาบึกจะลอยตัวขึ้นมาบริเวณผิวน้ำเพื่อเล่นน้ำทำให้สามารถจับได้ง่าย
จากการศึกษาวิจัย รายงานผลการศึกษาของ Dr. Kai Lorenzen และคณะ (2006) เรื่อง Development of a conservation strategy for the critically endangered Mekong giant catfish การปล่อยปลาบึกที่ผลิตจากโรงเพาะฟักลงในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง จะเป็นการทำลายความหลากหลายทางพันธุกรรมของประชากรปลาบึกธรรมชาติที่มีแห่งเดียวในไทย
ซึ่งข้อมูลจาก ThaiPR ดร.โทมัส เกรย์ ผู้นำการสำรวจชนิดพันธุ์ของ WWF ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดของโลกที่มีน้ำหนักถึง 300 กิโลกรัม และพบได้เพียงบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างนี้ ประกอบกับโลมาน้ำจืดและสัตว์ชนิดพันธุ์อื่นๆ กำลังเผชิญกับภัยคุกคามจากการสร้างเขื่อนและการทำประมงเกินขนาด ภัยคุกคามสำคัญคือเขื่อนพลังงานน้ำทั้ง 11 แห่ง บริเวณทางน้ำสายหลักของแม่น้ำโขง หนึ่งในนั้นคือเขื่อนไซยะบุรี ทางตอนเหนือของประเทศลาวที่กำลังจะสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว และเขื่อนดอนสะโฮงทางตอนใต้ของประเทศลาวที่กำลังจะดำเนินการเร็วๆ นี้ โดยเขื่อนเหล่านี้มีโอกาสที่จะทำลายระบบการอพยพของสัตว์น้ำอย่างถาวร และทำให้การประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนสำหรับประชากรกว่า 60 ล้านคน ตกอยู่ในความเสี่ยงเช่นกัน เขื่อนดอนสะโฮง ถือเป็นระเบิดเวลาทางระบบนิเวศที่เป็นภัยคุกคามต่อทั้งความมั่นคงทางอาหารของคนนับล้าน และประชากรของโลมาอิรวดีที่ใกล้สูญพันธุ์เต็มที เขื่อนจะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศของแม่น้ำโขงทั้งหมดจนถึงบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำในประเทศเวียดนาม ดร.โทมัส กล่าว
ทั้งนี้ WWF ได้ใช้เทคโนโลยี eDNA คือการตรวจหาร่องรอยทางดีเอ็นเอจากตัวอย่างน้ำ และนำมาเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลทางพันธุกรรม เนื่องจากสิ่งมีชีวิตทุกชนิดพันธุ์จะมีการทิ้งร่องรอยสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอไว้ในสิ่งแวดล้อม ทั้งจากเซลล์ผิว ของเสียจากร่างกาย โดยผลการศึกษาพบว่า ปลาบึกแม่น้ำโขงจะอพยพไปยังตอนเหนือของแม่น้ำโขงในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน และพบได้ในบริเวณแอ่งแม่น้ำลึกเท่านั้น นอกจากนี้ กองทุนสัตว์ป่าโลก หรือ WWF เปิดเผยผลทางการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์น้ำจากแม่น้ำโขงโดยใช้เทคโนโลยีตรวจหาร่องรอยทาง DNA ของสัตว์ที่หลงเหลืออยู่ในสิ่งแวดล้อมหรือ eDNA เป็นครั้งแรก พบว่าปลาบึกแม่น้ำโขงอยู่ในระดับวิกฤตต่อการสูญพันธุ์ มีจำนวนประชากรปลาบึกลดลงถึง 90% ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา
ปัจจุบัน ด้วยเป้าหมายที่ต้องการจะอนุรักษ์พันธุ์ปลาบึกและเพื่อเพิ่มปริมาณปลาบึกในแหล่งน้ำธรรมชาติ กรมประมงจึงได้พยายามดำเนินการเพาะและขยายพันธุ์จนประสบผลสำเร็จครั้งแรกในปี พ.ศ. 2526 จากความ สำเร็จดังกล่าวทำให้การศึกษาทางอนุกรมวิธานของปลาบึกสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และทำให้ทราบว่าลูกปลาบึกมีลักษณะ หลายๆ ประการที่แตกต่างไปจากปลาที่โตเต็มวัย เช่น มีฟันบนขากรรไกร และเพดานปาก และจะหลุดร่วงไปหมด เมื่อโตเต็มวัย ได้มีการนำพันธุ์ปลาบึกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆ เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจและติดตามทำให้ทราบว่าปลาบึกสามารถเจริญเติบโตในแหล่งน้ำธรรมชาติได้ปีละประมาณ 10–12 กิโลกรัม
กรมประมงประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาบึกโดยใช้พ่อแม่พันธุ์จากแม่น้ำโขงในปีพ.ศ. 2526 จากนั้นได้ทำการศึกษาวิจัยปลาบึกรุ่นลูกและนำมาเป็นพ่อแม่พันธุ์เป็นครั้งแรกในปีพ.ศ. 2543 จึงได้ทำการทดลองเพาะพันธุ์โดยประสบความสำเร็จเรื่อยมา กรมประมงได้สั่งการให้กระจายลูกปลาไปทั้ง 4 ภูมิภาค ทั่วประเทศไทยเพื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำและจำหน่ายให้แก่ประชาชนนำไปเลี้ยง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจุดรวมปลาอยู่ที่ศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดขอนแก่น นอกจากนี้กรมประมงได้ส่งลูกปลาชุดดังกล่าวไปเลี้ยงยังสถานีประมงทุกแห่งทั่วประเทศไทย แห่งละ 50 ตัว และศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืด แห่งละ 100 ตัว เพื่อเลี้ยงให้เป็นพ่อแม่พันธุ์ในรุ่นต่อไป
สำหรับที่บ้านท่าไคร้-นาแล หมู่.6 และ หมู่7 ตำบลนาสีนวล อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่มีอาชีพทำประมง เพราะพื้นที่อยู่อาศัยอยู่ติดบริเวณริมแม่น้ำโขง จากการสัมภาษณ์ชาวประมงท้องถิ่น พบว่า ชาวบ้านทำอาชีพประมงมากกว่า 20 ปี ไม่เคยได้พบเห็นปลาบึกตัวเป็นๆ เลยสักครั้ง เคยได้ยินเพียงแค่ชื่อ ซึ่งปกติจับได้เพียงปลาเล็ก ปลาคัง ปลาแข่ และปลาชนิดอื่นๆ
ในส่วนของการจับปลาในแม่น้ำโขง ชาวบ้านจะใช้วิธีไหลมอง คือการที่นำมองขนาด 8-15 เซ็นติเมตรผูกกับทุ่น ปล่อยลงในลักษณะขวางแม่น้ำแล้วให้ไหลไปตามกระแสน้ำ เมื่อถึงเวลาก็จะกลับมาเก็บ ซึ่งชาวบ้านบอกว่า ช่วงนี้จับได้แต่ปลาเล็ก ขนาด 2-3 นิ้ว ต้องรอจนกว่าจะเดือนมิถุนายนถึงจะจับได้ปลาตัวใหญ่
เมื่อชาวประมงท้องถิ่นที่ใช้ชีวิตอยู่ริมแม่น้ำโขงมาเนิ่นนานแต่ไม่เคยพบเห็นปลาบึกเลย ต่อมาจึงได้เดินทางไปยังสำนักงานประมงจังหวัดมุกดาหาร เพื่อเข้าพบและสอบถามกับหัวหน้ากลุ่มพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ โดยสอบถามถึงความเป็นไปของปลาบึกแท้ในแม่น้ำโขง คุณวสันต์ ตรุวรรณ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ สำนักงานประมงจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า “แทบไม่มีเลย นานๆ ทีจะจับได้ ซึ่งเหตุผลมีความเกี่ยวเนื่องกันหลายเรื่อง หนึ่ง ปลาที่จะขึ้นมาผสมพันธ์กับแหล่งวางไข่ หากลองตรวจสอบข้อมูล อย่างเช่น ที่จังหวัดมุกดาหาร ประมาณ 3-4 ปีแล้วที่จับปลาบึกไม่ได้ นั่นหมายถึงว่าปลาไม่ได้มีการผสมพันธุ์วางไข่ และประชากรปลาทดแทนไม่มี ซึ่งปัญหานี้มีอยู่หลายประเด็น แต่ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับประเด็นของการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ เรื่องอากาศ เรื่องอุณหภูมิก็มีส่วนที่ส่งผลต่อพันธุ์ปลาบึกในน้ำโขง ซึ่งใช้เวลานานกว่าจะมาเป็นพ่อแม่พันธุ์ที่สามารถทดแทนได้ ซึ่งแทบจะไม่มีรายงานว่าจับปลาบึกได้ในแม่น้ำโขง นานๆ จะพบในเขตมุกดาหาร โดยทั่วไปปลาที่จับได้จะมีปลาเถาะ ปลายาง ปลากาดำ ปลาชนิดอื่นๆ แต่ไม่พบปลาบึกเลย หากมีปลาบึกขายอยู่ตามตลาด คาดว่าน่าจะรับซื้อมาจากที่อื่น เพราะในพื้นที่ไม่เคยพบปลาบึก มีเพียงการเลี้ยงปลาเชิงเรียนรู้ 3-4 ตัว และเลี้ยงเพื่อเสริมบารมีเท่านั้น”
ในส่วนของการอนุรักษ์ปลาบึก คุณวสันต์ ตรุวรรณ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ต้องรณรงค์ให้ความรู้ คำแนะนำแก่ชาวประมงว่า หากจับได้ให้ปล่อยคืนแหล่งน้ำ เพื่อปล่อยให้มันโตเต็มวัย นอกจากนี้เป็นเรื่องเหนือการควบคุม หากปลาชนิดอื่นๆ จะมีวงจรชีวิตสั้น และใช้เวลา 10 กว่าปีจะโตเต็มวัย ซึ่งหากเป็นปลาบึกภายในที่เพาะพันธุ์ มีการเพาะเลี้ยงตั้งแต่ปี 2538 และกว่าจะโตเต็มวัยต้องใช้เวลาถึง 20 ปีเท่ากับช่วงอายุคน”
“มาอยู่นี่ 20 กว่าปีแล้ว ยังไม่เคยเห็นปลาบึกจากแม่น้ำโขงเลย อย่าว่าแต่ปลาบึกแท้เลย เห็นแต่บึกปลาสวาย แม่พันธุ์ปลาสวายผสมกับปลาบึก ไม่ใช่บึกแท้”
หรือปลาบึกแท้ที่เราเคยทาน เคยล่า หรือที่เคยพบเห็นได้สูญพันธุ์สิ้นแล้วจากแม่น้ำโขง ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ตามสภาพของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป การบริโภคที่มีความต้องการมากยิ่งขึ้น ปลาบึกอาจกลายเป็นสิ่งหายากใน อนาคต หรือสูญสิ้นไปจากโลกใบนี้ เราจึงต้องช่วยกันรักษาแต่ไม่ใช่แค่เพียงปลาบึกแต่ยังรวมถึงธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสิ่งต่างๆ รอบตัวเราไม่ให้สูญสลายหายไป