บั้นปลายชีวิตที่คิดเอาไว้ คงอยู่อีกไม่ไกล ไม้ใกล้ฝั่งต้นนี้นั้นไซร้ ขอฝากทั้งกายและใจไว้ ณ ที่แห่งนี้
สถานสงเคราะห์คนชรา สถานที่ที่จัดขึ้นเพื่อให้ผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาความทุกข์ยาก เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย ให้ได้รับการคุ้มครองดูแลอย่างมีความสุข เมื่อถึงบั้นปลายของชีวิตจะไม่ทุกข์เข็ญ หรือถูกทอดทิ้งให้ว้าเหว่เพียงลำพัง
ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมของผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2559 และในปี 2564 ที่จะถึงนี้ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ เนื่องจากมีประชาการที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเกิน 20% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 13 ล้านคน และอีก 20 ปีข้างหน้า ในปี 2583 ประเทศไทยจะมีผู้สูงวัยจำนวน 20 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากรคนไทยทั้งหมด โดยอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุ มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับอัตราการเกิดของจำนวนประชากร โดยอ้างอิงข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ ได้ให้คำนิยามของสังคมผู้สูงวัย 3 ระดับ คือ
1.สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 หรืออายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 7
2.สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์คือ สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 หรืออายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 14
3.สังคมสูงวัยขั้นสูงสุด คือสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 28 หรืออายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า ร้อยละ 20
เมื่อเทียบจากเปอร์เซ็นต์จากปี 2562 จนก้าวเข้าสู่ปี 2563 พบว่ามีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้สูงอายุในไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกวัน อัตราการเกิดของประชากรขาวไทยสวนทางกับอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ ทำให้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เมื่อมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นแต่จำนวนคนวัยทำงานลดน้อยลง จึงทำให้ตลาดแรงงานลดน้อยลงเช่นกัน ผู้สูงอายุหลายรายต้องออกมาทำมาหากินด้วยตนเอง มิหนำซ้ำยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ซึ่งจะเห็นได้ตามท้องถนนที่มีผู้สูงอายุเร่ขายของ นอนตามป้ายรถเมล์หรือนั่งขอทานตามสะพานลอย ตลาดและสถานที่ต่างๆ
โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลได้กำหนดแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ (พ.ศ.2545-2564) ขึ้นมา ซึ่งมีประเด็นสำคัญ คือ ผู้สูงอายุต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งสุขภาพชีวิตที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ ครอบครัวและชุมชนต้องเป็นสถาบันที่เข้มแข็งเพื่อเกื้อหนุนผู้สูงอายุ ระบบสวัสดิการและบริการจะต้องสามารถรองรับผู้สูงอายุให้สามารถดำรงอยู่กับครอบครัวและชุมชนได้อย่างมีคุณภาพ ทุกภาคส่วนจะต้องมีส่วนร่วมในระบบสวัสดิการและบริการให้แก่ผู้สูงอายุโดยมีการกำกับดูแลเพื่อการคุ้มครองผู้สูงอายุในฐานะผู้บริโภค ต้องมีการดำเนินการที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ทุกข์ยากและต้องการการเกื้อกูลให้ดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนได้อย่างเหมาะสม ตามวิสัยทัศน์ที่ว่า “ผู้สูงวัยเป็นหลักชัยของสังคม”
เมื่อวัดกับความเป็นจริงแล้ว มาตรการดังกล่าวยังไม่สามารถครอบคลุมหรือทำได้จริงในสังคม การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ เมื่อมองจากความเป็นจริง แค่เพียงบริการรถโดยสารสาธารณะ ยังไม่สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สูงอายุได้แม้แต่น้อย หรือแม้แต่ตามห้างสรรพสินค้าร้านค้าต่างๆ ก็ยังไม่เอื้ออำนวยให้ผู้สูงอายุใช้บริการได้อย่างสะดวก ยิ่งจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ สถานที่รองรับก็ยิ่งต้องมากขึ้นเท่านั้น
กลับมาที่สถานสงเคราะห์คนชราเป็นหนึ่งในสวัสดิการที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุที่กำลังจะสมบูรณ์ในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้สูงวัยที่ขาดคนดูแล รวมไปถึงผู้สูงวัยไร้ที่อยู่อาศัย ป่วยจากโรคภัยไข้เจ็บจนไม่สามารถดูแลตัวเองได้ หากประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือจำนวนผู้สูงวัยจะเพิ่มขึ้น และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มที่อายุ 80 ปีขึ้นไป และสิ่งที่ตามมาคืองบประมาณในการจัดการดูแลจะไม่เพียงพอ
โดยโครงสร้างและเงินสนับสนุนของสถานสงเคราะห์คนชราส่วนหนึ่งได้มาจากงานสนับสนุนของรัฐบาล ส่งตรงมายังจังหวัด และส่งต่อมายังกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเงินที่มาจากการบริจาคให้กับสถานสงเคราะห์ทั้งเงินสดและสิ่งของ เงินในส่วนของภาครัฐมีการแบ่งสันปันส่วนอย่างเป็นระบบ ทั้งเรื่องสวัสดิการทางประกันสังคม ให้ที่อยู่อาศัย อุปการะดูแลจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต
แม้ว่าจะมีการจัดสรรเงินงบประมาณเป็นอย่างดี แต่จากงานวิจัยเรื่อง ต้นทุนการจัดการดูแลผู้สูงอายุระยะในสถาบัน : กรณีศึกษาศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านธรรมปกรณ์ จังหวัดเชียงใหม่ โดย รศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา และคณะ พบว่าในปี 2557 ต้นทุนการจัดการดูแลผู้สูงอายุ ณ ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านธรรมปกรณ์ จ.เชียงใหม่ สำหรับผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพาผู้อื่นทั้งหมด ต้นทุนอยู่ที่ 461.39 บาทต่อคนต่อวัน ผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพาผู้อื่นในระดับมาก 456.91 บาทต่อคนต่อวัน และผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพาผู้อื่นในระดับปานกลาง 445.20 บาทต่อคนต่อวัน (นำมาหาค่าเฉลี่ยโดย TCIJ อยู่ที่ 454.50 บาทต่อคนต่อวัน หรือคิดเป็น 13,635 บาทต่อคนต่อเดือน) โดยร้อยละ 17 ของต้นทุนดูแลผู้สูงอายุมาจากเงินบริจาค ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลเพื่อการดูแลผู้สูงอายุในบ้านพักคนชราของรัฐนั้น ไม่สามารถขาดแหล่งเงินสนับสนุนหรือทรัพยากรจากแหล่งอื่นๆ ได้
สถานสงเคราะห์คนชรามหาสารคาม เป็นส่วนหนึ่งในสวัสดิการที่ใช้รองรับผู้สูงวัย สร้างขึ้นเพื่อดูแลผู้สูงอายุเป็นศูนย์ของการช่วยเหลือในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ สกลนคร มุกดาหาร นครพนม หนองคาย หนองบัวลำภู ขอนแก่น อุดรธานี สถานสงเคราะห์คนชราแห่งนี้ รวมผู้คนที่ถูกทอดทิ้งไว้อันได้แก่ ผู้สูงวัยที่ไร้ที่อยู่ที่อาศัย และป่วยจากโรคภัยไข้เจ็บจนไม่สามารถดูแลตัวเองได้
คุณอำพร พลเสน ผู้ดูแลสถานสงเคราะห์คนชราจังหวัดมหาสารคามได้กล่าวว่า “ขั้นตอนแรกในการรับผู้สูงอายุเข้ามา จะมีทั้งผู้สูงอายุที่เต็มใจสมัครเข้ามาอยู่ในสถานสงเคราะห์ด้วยตนเอง ซึ่งจะต้องมีบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำหรับการสมัคร อีกหนึ่งทางคือ ผู้สูงอายุที่ทางท้องที่ส่งมา ซึ่งจะเป็นเอกสารแสดงข้อมูลของผู้สูงอายุ ทางหน่วยงานจะต้องลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อทำการประเมิน ว่าผู้สูงอายุดังกล่าว สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้อย่างปกติ และไม่เป็นผู้ป่วยติดเตียง”
ในด้านของเงินสนับสนุน สถานสงเคราะห์คนชราแห่งนี้ได้รับงบประมาณจากทั้งหมดสามส่วน คือ 1.กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น 2.งบ อบจ. และ 3.งบมูลนิธิ (เงินบริจาค) ในส่วนของข้อ 1 และข้อ 2 การใช้งบประมาณจากส่วนนั้น จำเป็นต้องมีการทำเรื่องอย่างเป็นระบบแบบแผน หากประธานเห็นชอบและอนุมัติ เงินในส่วนนั้นจึงจะสามารถเบิกออกมาใช้ได้ แต่หากประธานไม่เห็นด้วยงบประมาณตรงนั้นที่ร้องขอก็จะถูกปัดตกลงไป
เมื่อมีการรับผู้สูงอายุเข้ามาภายในสถานสงเคราะห์คนชราของจังหวัดมหาสารคามแล้ว การดูแลของสถานสงเคราะห์คนชรา จะมีการจัดการดูแลทั้งในเรื่องสุขภาพจิตใจ ดูแลด้านอาหารการกินสำหรับผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวและจำเป็นต้องควบคุมอาหาร หากเกิดอาการเจ็บป่วย ทางสถานสงเคราะห์จะมีฝ่ายพยาบาลคอยดูแลอยู่ตลอด นอกจากนี้ยังมีการพาผู้สูงอายุไปพบแพทย์ตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง รวมไปถึงการจัดยาและควบคุมให้ผู้สูงอายุรับประทานยาตามเวลา มีการเฝ้าติดตามอาการในกรณีที่มีผู้ป่วยเป็นโรคที่ต้องติดตามเฝ้าดูอาการ และทุกวันพุธที่สองของเดือนจะมีการจัดโครงการคลินิกผู้สูงอายุ เพื่อที่จะลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปโรงพยาบาล และลดขั้นตอนการรักษา โดยจะมีทีมแพทย์ พยาบาล เภสัช และนักกายภาพบำบัดจากโรงพยาบาลมหาสารคามเข้ามาช่วยดูแล
การที่หมอและพยาบาลจากโรงพยาบาลมหาสารคาม มีการเดินทางมาดูแลผู้สูงอายุถึงสถานสงเคราะห์ถือว่าเป็นโครงการที่ดีมากโครงการหนึ่ง คลินิกผู้สูงวัยที่จัดขึ้นภายในสถานสงเคราะห์จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายจากการเดินทาง นอกจากนี้ยังเป็นการดีที่ผู้สูงอายุไม่ต้องไปเบียดเสียด หรือไปปะปนกับคนที่แน่นขนัดในโรงพยาบาล ซึ่งอาจมีผลกระทบหลายๆ อย่างตามมาในภายหลัง
ด้านที่อยู่อาศัยสถานสงเคราะห์คนชราจังหวัดมหาสารคามได้มีการแบ่งแยกเรือนนอนระหว่างชายและหญิงอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีการแยกเรือนนอนสำหรับผู้สูงอายุที่มีอาการเป็นผู้ป่วยติดเตียงออกไปอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งมีคนดูแลอย่างใกล้ชิดอยู่ตลอด 24 ชม.
นอกจากนี้ภายในสถานสงเคราะห์ยังจัดกิจกรรมสันทนาการ สร้างความบันเทิงให้กับผู้สูงอายุทุกอาทิตย์ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีความสุข ไม่รู้สึกหดหู่
“เรามีการจัดกิจกรรมทุกวันอย่างไม่ซ้ำกัน อย่างวันพุธ งานสังคมสงเคราะห์เขาจะรับผิดชอบในช่วงเช้าที่โรงอาหาร บางวันก็โยนบอล วาดภาพ ทุกเช้าวันพุธจะมีการทำกิจกรรมไม่ซ้ำกัน ด้านงานพยาบาลก็จะทำเกี่ยวกับการฟื้นฟู พาผู้สูงอายุออกกำลังกายแล้วก็ดูเรื่องของสุขภาพจิต”
สุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญ แม้ว่าร่างกายจะแข็งแรงสักแค่ไหน แต่หากใจอ่อนแอแล้วร่างกายก็พลอยทรุดตามลงไป ยิ่งกับผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งไร้ลูกหลานมาเหลียวแล การอยู่ร่วมกับคนแปลกหน้า ย่อมก่อเกิดความรู้สึกหดหู่และเหงาเป็นธรรมดา ชีวิตของไม้ใกล้ฝั่งที่คอยนับเวลาถอยหลังอยู่ทุกๆ วัน ความสุขเดียวที่เขาคาดหวังนอกไปเสียจากสวัสดิการ การดูแลที่ได้รับการเอาใจใส่ คงเป็นการเข้ามาพูดคุยของผู้คนที่แวะเวียนกันเข้ามาบริจาค จัดทำกิจกรรมสันทนาการให้ แทนที่กิจกรรมปกติทุกวันของสถานสงเคราะห์
ไม่เพียงแต่การดูแลสุขภาพจิตใจ สุขภาพกายเท่านั้น แต่ทางสถานสงเคราะห์คนชราจังหวัดมหาสารคามยังได้มีการจัดงานตามวันสำคัญต่างๆ ของประเทศไทย อาทิเช่น งานวันสงกรานต์ ได้มีการจัดกิจกรรมรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ เพื่อให้ในช่วงวันหยุดสำคัญคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ แทนที่จะออกไปเที่ยวนอกบ้านก็ปรับเปลี่ยนเส้นทางมารดน้ำดำหัวผู้สูงวัย ณ ที่แห่งนี้แทน เปรียบเสมือนการให้ทุกคนกลับมาเยี่ยมเยือนคนเฒ่าคนแก่ที่กำลังรอคอยใครสักคน แม้ว่าเราจะไม่ได้เกี่ยวพันกันทางสายเลือด แต่สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่ได้มีลูกหลานมาคอยดูแล การที่ได้เห็นใครสักคนตระหนักถึงการมีอยู่ของพวกท่าน ไม้ใกล้ฝั่งใกล้โรยราเหล่านี้ก็คงจะอิ่มใจไปอีกนาน
การดูแลผู้สูงอายุในการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบในประเทศไทย การฟื้นฟูเยียวยาผู้สูงอายุที่สำคัญคือสภาพจิตใจ ผู้สูงอายุไม่ได้อะไรมากมาย เพียงแค่ได้พูดคุยกับใครสักคน ถามไถ่ท่านในบางวัน ความใส่ใจเล็กๆ น้อยๆ ไม่ใช่แค่เพียงคนแก่ที่บ้าน แต่คนแก่ที่อยู่นอกบ้านตามสถานสงเคราะห์หลายๆ แห่ง หากวันหนึ่งมีเวลาว่างและไม่รู้จะไปไหน ลองขับรถมุ่งไปยังสถานที่ที่รวมไม้ใกล้ฝั่งที่ถูกทอดทิ้งเอาไว้ด้วยกัน เพราะวันนั้นอาจจะเป็นวันสุดท้ายของแก วันสุดท้ายที่จะได้ไม่ต้องโดดเดี่ยวอีกต่อไป