เสื้อผ้าที่เราสวมใส่ในปัจจุบัน ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติอย่าง ฝ้าย ลินิน ขนสัตว์ เส้นใยสังเคราะห์อย่างไนลอนหรือไหมสังเคราะห์ โดยมากกว่าร้อยละ 60 ของเสื้อผ้าที่มีอยู่บนโลกผลิตหรือมีส่วนผสมมาจากเส้นใยสังเคราะห์ เสื้อผ้าจากวัสดุเหล่านี้ผลิตแล้วล้วนยากต่อการย่อยสลาย ในแต่ละปีทั่วโลกมีการผลิตเสื้อผ้ามากถึง 150,000 ตัน เเละการใช้วัสดุเเต่ละเเบบมาผลิตเสื้อผ้า เช่น ฝ้ายธรรมชาติใช้น้ำถึง 2,700 ลิตร ในการปลูกเพื่อผลิตเสื้อเพียงตัวเดียว หรือการใช้น้ำมันดิบมากกว่าหนึ่งล้านบาร์เรล เพื่อผลิตเป็นเส้นใยสังเคราะห์ การมาถึงของเสื้อผ้าจากขวดพลาสติกจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการลดทรัพยากรในการผลิตเสื้อผ้า
ที่มาของการรีไซเคิลพลาสติก เกิดขึ้นจริงจังครั้งแรกในปี ค.ศ. 1988 ในสหรัฐอเมริกา ก่อนจะแพร่หลายไปทั่วโลกในช่วงยุค 90 โดยพลาสติกที่นิยมรีไซเคิลคือ พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต หรือ PET จากขวดน้ำดื่มหรือพลาสติกประเภทใส นำไปแปรรูปหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือการผลิตเสื้อผ้า
โดยกระบวนการผลิตคือ นำขวดพลาสติกรูปแบบดังที่กล่าวข้างต้น มาบดอัดเป็นชิ้นๆ ก่อนจะทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ส่วนฉลากและเศษกาวที่ติดอยู่กับขวดจะถูกนำไปฟอกและให้ความร้อนจนน้ำระเหยออกไปทั้งหมด และนำเศษชิ้นส่วนของขวด มาหลอมด้วยความร้อนถึง 270 องศาเซลเซียส จนละลายกลายเป็นพลาสติกเหลวไหลผ่านตัวกรองซึ่งมีลักษณะเหมือนหัวฉีดสเปรย์ ได้ผลลัพธ์เป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์เส้นยาว มีคุณสมบัติเหนียว ทนทาน เนื้อผ้าไม่ยับง่าย คงรูปทรงได้อย่างดี โดยนิยมทำเป็นเสื้อยืดและเสื้อกีฬา ซึ่งการใช้ขวดพลาสติกเพียง 8-20 ใบ ในการผลิตเสื้อหนึ่งตัว ใช้น้ำไม่ถึง 10 ลิตร
ตัวอย่างแบรนด์ระดับโลกที่นำขวดพลาสติกมาทำเป็นเสื้อผ้าอย่าง ยูนิโคล (Uniqlo) นำขวดประมาณ 48 ล้านใบ ผ่านกระบวนการผลิตเป็นเม็ดโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลเป็นเส้นใยเพื่อผลิตเสื้อโปโลดรายเอ็กซ์ โดยมี โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ นักเทนนิสระดับโลกแชมป์แกรนด์สแลม 20 สมัย มาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์
เสื้อผ้าจากขวดพลาสติกช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 2/3 ของการผลิตเสื้อผ้าด้วยเส้นใยสังเคราะห์จากน้ำมันดิบ และยังใช้น้ำในการผลิตน้อยกว่าผ้าฝ้าย นับว่าเป็นการนำขวดพลาสติกที่ถูกทิ้งมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมแฟชั่นได้คุ้มค่าอีกวิธีหนึ่ง