[สาระน่ารู้] จากขยะ 5 กิโลกรัม...สู่รองเท้า 1 คู่ ได้อย่างไร?

[สาระน่ารู้] จากขยะ 5 กิโลกรัม...สู่รองเท้า 1 คู่ ได้อย่างไร?

          ปัญหาขยะที่ติดอยู่รอบชายหาดและลอยอยู่ในทะเลนั้นถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติจนถึงระดับโลก โดยข้อมูลจาก statista บริษัทเก็บข้อมูลและสถิติสัญชาติเยอรมัน  และ condorferries บริษัทให้บริการผู้โดยสารและเรือข้ามฟากขนส่งสินค้าระหว่างสหราชอาณาจักร ได้เผยถึงสถิติขยะที่อยู่ในทะเลว่า 70% เป็นขยะวนเวียนอยู่ในระบบนิเวศมหาสมุทร อีก 15% ลอยอยู่เหนือน้ำ และ 15% ติดอยู่บนชายหาด โดยประเภทขยะที่พบมากที่สุดในปี 2022 คือก้นบุหรี่ ซึ่งพบมากถึง 964,521 ชิ้น ส่วนพลาสติกแม้ไม่ติดอันดับ 1 แต่ถ้ารวมพลาสติกทุกประเภท เช่น ขวด ถุง ฝา ขวดแก้ว และหลอด จะพบมากถึง 2 ล้านชิ้นหรือมากกว่าก้นบุหรี่ 2 เท่า อีกทั้งจากการศึกษาของ TDRI ในปี 2020 พบว่าประเทศไทยมีปริมาณขยะทะเลมากเป็นอันดับ 10 ของโลก จำแนกเป็นขยะพลาสติกที่มีการจัดการไม่ถูกต้อง 1.03 ล้านตัน โดยส่วนหนึ่งเป็นขยะพลาสติกที่รั่วไหลลงสู่ทะเลประมาณ 0.41 ล้านตัน/ปี

          ในปี 2019 บริษัทรองเท้าชื่อดังอย่าง “นันยาง” ได้เกิดไอเดียนำขยะมาแปรสภาพเป็นรองเท้าโดยร่วมมือกับ “ทะเลจร” เครือข่ายอาสาสมัคร Trash Hero ภาคใต้ ภายใต้โปรเจ็ตก์ “รองเท้า KHYA” สร้างจากส่วนผสมระหว่างรองเท้าแตะช้างดาวกับขยะ โดยนันยางจะรับขยะจากกลุ่มอาสาสมัครมาคัดแยกขยะ และส่งต่อไปยังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อเตรียมวัตถุดิบขั้นแรก จากนั้นจะส่งกลับมาที่นันยางเพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิต ซึ่งกว่าจะเป็นรองเท้า KHYA 1 คู่ ต้องเก็บขยะถึง 5 กิโลกรัม ถ้า 200 คู่ จะเท่ากับการเก็บขยะถึง 1 ตัน จนสุดท้ายกลายเป็น “รองเท้า KHYA” ที่มีราคาขายสูงถึง 399 บาท แพงกว่ารองเท้าแตะช้างดาวทั่วไปถึง 4 เท่า

          ปัจจุบัน ถึงแม้บริษัท “นันยาง” จะยกเลิกผลิต “รองเท้า KHYA” แล้ว แต่ในปี 2019 เดียวกันนั้น Adidas บริษัทผู้ผลิตรองเท้าชื่อดัง ได้ตั้งเป้าหมายผลิตรองเท้าที่มีส่วนประกอบของขยะรีไซเคิลจำนวน 11 ล้านคู่ โดยตั้งแต่ปี 2015 ได้ร่วมมือกับบริษัท Parley จัดการขยะในมหาสมุทรกว่า 1,400 ตัน และภายในปี 2024 ทาง Adidas ได้ให้คำมั่นว่าจะนำโพลีเอสเตอร์(PET) รีไซเคิล 100% มาใช้กับผลิตภัณฑ์ของ Adidas ทั้งหมดอีกด้วย

          อย่างไรก็ตามก็ยังมีข้อถกเถียงถึงต้นทุนในการผลิตว่าคุ้มหรือไม่ และกระบวนการรีไซเคิลรองเท้าจากขยะนั้นไม่ต่างจากการผลิตรองเท้าทั่วไป แต่ใช้เวลาและขั้นตอนในการผลิตมากกว่า ซึ่งอาจขัดกับหลักการรีไซเคิลที่เน้นนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่โดยใช้ต้นทุนในการผลิตที่น้อยกว่า

          ส่วนทางด้าน Adidas เอง ก็ไม่มีทีท่าที่ชัดเจนว่าจะทำรองเท้าจากพลาสติกแท้ๆ 100 เปอร์เซ็นต์ มีเพียงแค่นำชิ้นส่วนพลาสติกโพลีเอสเตอร์(PET)มาเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ หรือท้ายที่สุดแล้วการใช้ขยะเพื่อผลิตรองเท้านั้นอาจเป็นเพียงกลยุทธ์ในการตลาดเพื่อการค้าเท่านั้นเอง

Top