ในปัจจุบัน ด้านความหลากหลายทางเพศแทบจะเป็นเรื่องปกติ และเป็นที่ยอมรับของคนในสังคมหลาย ๆ กลุ่มอยู่มากแล้ว ทั้งในเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศเองก็เช่นกัน “คนที่อาจจะเป็นบุคคลที่อยู่ในความหลากหลายทางเพศ บางคนก็อาจจะมีความไม่มั่นใจและกลัวเพราะ ‘ฉันเป็นคนหลากหลายทางเพศไม่กล้าที่จะรักใคร’ หรือ ‘ไม่กล้าที่จะทำอะไรบางอย่าง’ คุณลองมั่นใจและรักตัวเอง ภาคภูมิใจในตัวเอง เอาความรักที่ให้กับตัวเอง มอบความรักนี้ให้แก่คนอื่น ๆ คนที่คุณรักหรือคนที่คุณอยากจะให้เขา และไม่ต้องเสียใจถ้าวันหนึ่งคุณอาจจะไม่สมหวัง หรือผิดหวังอะไรก็แล้วแต่ เพราะสุดท้ายแล้วคุณคือ คน ๆ หนึ่งที่มีสิทธิ์ที่จะรัก และได้เรียนรู้ และเหมาะสมที่จะได้ความรักที่ดีครับ” กล่าวด้วยเสียงจริงจัง
วันนี้ทาง Restroom 16 ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณ เซ้นต์ “สวัสดีครับชื่อเซ้นต์นะครับ ชื่อจริง ศุภพงษ์ อุดมแก้วกาณจนา ปัจจุบันเป็นนักแสดง พิธีกร นายแบบ และเป็น CEO IDOL FACTORY ทำธุรกิจบันเทิง ทำละคร ซีรีส์ครับ” เพื่อเปิดมุมมองในด้านความหลากหลายทางเพศ และมุมมองตัวตนนักแสดงสู่ผู้ทำเบื้องหลังซีรีส์เองด้วย
เมื่อก่อนวงการซีรีส์ไทยเป็นอย่างไรในฐานะคนดู?
“รู้สึกว่าการสื่อสารของตอนที่เราเป็นคนดู เราก็อินไปกับบทบาทของผู้เล่นที่เขาเล่น มันได้รับความสุขและเอ็นจอย เขาเศร้า เราเศร้า เขาเสียใจ เราเสียใจ เขารัก เรารักไปกับเขา Mission ต่าง ๆ เราก็ลุ้นไปกับเขา นั่นมันเรียกอีกอย่างหนึ่งคือเป็นบุคคลที่ 3 ในการเป็นคนที่ดูเรื่องราว”
แล้ววงการซีรีส์หลังจากที่เข้ามาเป็นนักแสดง?
“พอระยะเวลาผ่านไป เราได้เป็นนักแสดงเอง สิ่งที่เห็นมันจะมากขึ้น มันเห็นถึงว่าเป็นมุมมองของบุคคลที่ 2 บุคคลที่ 1 ในเรื่องราวต่าง ๆ พอเรามาดูซีรีส์ที่เล่นเอง เราเห็นเรื่องราวว่ามันมีอะไรมากกว่าแค่ในจอ เรามีการทำการบ้านของนักแสดง เราเห็นเรื่องราวของตัวละคร ความสนุก ความฝัน Mission ของตัวละคร ซึ่งมีดีเทลมากขึ้น มันก็อินมากขึ้น หรือแม้ตอนที่เป็นนักแสดงแล้วกลับมาดูซีรีส์ ดูหนังเอง ก็คิดมากขึ้นเลย เพราะเห็นมุมมองมากขึ้น หรือบางทีก็ไปดูว่านักแสดงคนนั้นเขาสื่อสารอะไร บางครั้งมันไม่ใช่แค่การฟังเสียง คำพูด แต่มันคือการดูสายตาที่เขามอง ความรู้สึกที่เขาสื่อออกมา การกระทำหรือว่า Symbolic ทุกอย่าง มันแอบสังเกตมากขึ้น”
จากนักแสดงสู่การเป็นคนทำเบื้องหลังมีมุมมองอย่างไร?
“พอมาทำเบื้องหลัง มันเป็นการสื่อสารเต็ม ๆ เลย ของบุคคลหนึ่ง คือฉันไม่ใช่แค่บุคคลที่สื่อสารออกไปอย่างเดียวแล้ว แต่ฉันเป็นคนสร้างอะไรบางอย่าง ฉันต้องการจะสื่อสารให้กับผู้ชมขึ้นมา ความแตกต่างพอมันเป็นผู้สร้างเองเนี่ย มันต้องมีกิมมิคตีขึ้นมาเลยว่า เราอยากจะสื่อสารไปทางไหน อย่างส่วนตัวจะทำนิยามในการเป็นผู้จัดละคร ทุกครั้งน่ะ เราเป็นผู้จัดละคร เราอยากใช้วิธีการเป็นผู้จัดละครในการเป็นผู้สื่อสาร ในการสร้างสรรค์อะไรบางอย่าง ใช้คำว่าสร้างสรรค์สังคมแล้วกัน ส่วนตัว ณ จุด ๆ นี้ ผู้สร้างสรรค์สังคมที่ต้องการผลักดันความเท่าเทียมและความหลากหลาย ให้มันเกิดความเท่าเทียมจริง ๆ เราก็ใช้ซีรีส์ในการสร้างสรรค์สังคมนั้นขึ้นมา”
สิ่งที่จุดประกายในการเริ่มต้นมาเป็นนักแสดงและการผันตัวมาทำเบื้องหลัง คืออะไร?
“นักแสดง มันเกิดจากตอนที่ทำค่ายอาสาครับ ฟีลเปิดกล่อง ก็รู้สึกว่าเหมือนคนทำอาสาทั่วไปแหละ แค่จุดเริ่มต้นมาจากการที่เรารู้สึกว่าถูกคนพูดว่า เออ ‘มันไม่มีความน่าเชื่อถือ’ มันทำให้เวลาเปิดกล่องทุกคนเหมือนไม่โอเคกับอะไรอย่างนี้ครับ นอกจากนี้เวลาที่เราไปทำบุญ เรารู้สึกว่าเราอยากที่จะหาต้นทุนมาเอง เพื่อที่จะช่วยให้การทำค่ายอาสาของเราได้รวดเร็ว แต่ทุนมันหายาก เลยทำให้เป็นจุดเริ่มต้นว่า ‘เอ๊ะ! เราต้องทำยังไงดีให้มีความน่าเชื่อถือ และสามารถหาเงินมาร่วมลงทุนได้’ ก็เลยสนใจในตรงนี้ก่อนที่จะมาเป็นนักแสดง เพราะสุดท้ายแล้วเราก็รู้ว่า มันอาจจะเป็นสิ่งที่เราชอบพอดี มันก็เลยทำให้เรารักในการเป็นนักแสดง หลังจากนั้นก็เลยกลายมาเป็นนักแสดง ส่วนเบื้องหลัง มันมาจากมีน้องในสังกัดที่ไม่ได้โอกาสในการทำงานในวงการ ซึ่งความฝันมันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เราเลยรู้สึกว่าอยากจะทำให้น้อง ๆ เหล่านี้ ทำความฝันให้สำเร็จ และเราอยากเป็นส่วนหนึ่งในการทำตามความฝันให้น้อง ๆ ก็เลยเกิดการทำซีรีส์ขึ้นมา”
ก่อนที่จะเริ่มเข้าวงการมองภาพตัวเองไว้อย่างไร หลังจากเข้าวงการมาแล้วภาพที่มองไว้แตกต่างมากไหม?
“อืม แอบรู้สึกว่ามีความแตกต่างนะ เพราะว่าก่อนทุกคนจะเข้าวงการ หรือใคร ๆ ที่อยากจะเข้าวงการมันจะมีภาพ ๆ หนึ่งที่เห็นวงการบันเทิงว่า เฮ้ย มันเป็นภาพที่สนุกสนาน อยู่ในกล้องมันจะมีความสวยความงามอะไรต่าง ๆ ถูกต้องไหมครับ? แต่ว่าจริง ๆ แล้วอะ อันนี้คือภาพที่เราเห็นก่อนหน้า เราอาจจะยังไม่รู้หัวใจว่าเราต้องทำ ต้องจัดการ ต้องดูอะไรขนาดนั้น แต่พอเรามาเป็นนักแสดงแล้ว มันก็จะเข้าใจครับว่าในบริบทหนึ่งที่ว่า สมมติว่าการเล่นละคร 1 ซีน กว่าจะเป็น 1 ซีน ที่มันเกิดขึ้นมาได้ มันมีดีเทลมากกว่านั้น หรือบางครั้งความสวยงามในซีน ๆ นั้นที่เราดูเพียงแค่ไม่ถึง 10 วิ มันอาจจะเป็นสิ่งที่เราใช้เวลาในการทำหลายชั่วโมง หรือเป็นวันเลยก็ได้ ทุกอย่างที่เป็นความสวยงามมันเกิดการคิด การทำ ความพยายาม และความอดทนจากทุกคน ทุกฝ่าย จนออกมาเป็นหนัง 1 เรื่อง ซีรีส์ 1 เรื่อง ละคร 1 เรื่อง ผลงานเพลง 1 ผลงาน นี่คือสิ่งที่มันแตกต่างกัน”
แล้วภาพที่มองไว้ทั้งก่อนและหลัง สำหรับซีรีส์ที่ทำเป็นยังไงบ้าง?
“ต้องพูดอย่างนี้ว่า ภาพก่อนที่เรามองเอาไว้ เราก็อยากจะผลักดัน รู้สึกว่าเราก็มองไว้ว่ามันจะต้องสำเร็จอะไรอย่างนี้ แต่วันหนึ่ง เรามาได้ทำแล้วเราเข้าใจบริบทของการทำงาน ณ ตรงนี้ อย่างในเรื่องการผลักดันเอง มันไม่ได้มีเพียงแค่ตัวเราคนเดียวครับ มันเกิดการร่วมมือกับทุกฝ่าย กับภาคเอกชน ภาครัฐเอง หรือภาคบุคคล หลาย ๆ บุคคล มันเลยทำให้เราเรียนรู้ว่า สุดท้ายแล้วเราไม่ใช่คนที่กำหนดอะไรทุกอย่างได้หมดหรอก แต่ถ้าเกิดการร่วมมือกัน หรือถ้าไม่มีใครคนหนึ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นหรือพยายามผลักดันมันจะไม่มีวันสำเร็จเลย ก็รู้สึกว่า เออ ในจุด ๆ หนึ่ง จุดเริ่มต้นหรือว่าจุดต่อยอดจากหลาย ๆ บุคคล และเราก็มีความเชื่อว่าวันหนึ่ง Generation ต่อไป เขาจะทำสิ่งเหล่านี้สำเร็จ”
จากนักแสดงเบื้องหน้าสู่การมาทำเบื้องหลัง มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ในปัจจุบันที่กำลังทำอยู่?
“แตกต่างกันพอสมควร เราเป็นเบื้องหน้าเนี่ย สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราจะต้องเอาสิ่งที่เบื้องหลังเขาเตรียมมาให้เรา ซึ่งเบื้องหลังเขาจะเตรียมบทละคร เตรียมเรื่องราว เตรียมโลเคชั่น ดูความเหมาะสม หรือคิดมุมต่าง ๆ ให้เรา หน้าที่ของนักแสดงพอเป็นเบื้องหน้าก็จะเอาเรื่องราวพวกนี้มานั่งตัดสินใจ มานั่งเรียนรู้มัน แล้วก็ถ่ายทอดออกไป เพื่อให้ตรงกับกลุ่มของคนเบื้องหลังที่เขาได้วางแผนเอาไว้ ซึ่งคนเบื้องหลังอย่างที่บอก เขาจะเป็นคนวาดกรอบ หรือเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา แต่นักแสดงคือคนที่จะอ่านหนังสือเล่มนี้ออกไป ซึ่งในแต่ละคน การอ่านหนังสือก็จะอ่านไม่เหมือนกันถูกต้องไหม? บางคนอาจใช้เสียงเข้ม แต่บางคนอาจใช้เสียงอ่อนในการอ่าน อ่านเร็ว อ่านช้า เนี่ยมันก็เป็นบทบาทที่มันแตกต่างระหว่างคนที่เขียนหนังสือกับคนที่อ่านหนังสือซีรีส์ออกไป”
ภาพสะท้อนที่ชัดเจนในฐานะคนดูซีรีส์?
“ภาพสะท้อนที่ชัดเจน มันชัดเจนมากครับ ในเรื่องของการมีซีรีส์ความหลากหลายเกิดขึ้นมา แล้วคนได้ดูเยอะ เรียกว่าทุกคนมีความเป็นตัวเองได้มากขึ้น เพราะมันเกิดการยอมรับมากขึ้น เช่น ขบวนพาเหรดวัน Pride Month เอง หรืออย่างการรณรงค์ในเรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียมเอง เลยรู้สึกว่า เฮ้ย! มันเป็นภาพสะท้อนในสังคมที่มันเกิดขึ้นมาจากซีรีส์จนเป็น Soft Power”
ภาพสะท้อนวงการซีรีส์ด้านความหลากหลายทางเพศ ในยุค 2000 มีมุมมองเป็นอย่างไร?
“ตั้งแต่ในยุคปี 2000 เอง เราแอบรู้สึกว่าภาพของสื่อในวงการบันเทิง ยังนิยามในเรื่องของตัวละคร คือเราจะไม่ค่อยได้เห็นตัวละครที่เป็นตัวละครเอกหรือตัวละครนำ ที่เป็นเพศในความหลากหลายทางเพศถูกต้องไหมครับ? มันอาจจะเป็นในตอนนั้นหรือว่าในยุค ๆ นั้นเอง บางทียังมองว่า ตัวละครที่เป็นในเรื่องความหลากหลายทางเพศ ถูกนำมาใช้ในคาแรคเตอร์สนุกสนาน ในยุค ๆ นั้นนะ แต่ว่าในเรื่องของการยอมรับเอง หรือในเรื่องของสมรสเท่าเทียมอะไรก็แล้วแต่ ในยุคนั้น ก็ยังเป็นกลุ่ม ๆ ณ ช่วงเวลานั้นมองอีกรูปแบบหนึ่ง แต่พอมาในปัจจุบันเอง รู้สึกว่ามันมีความแตกต่างกันมาก ๆ เลย มัน ผ่านมาหลาย 10 ปีแล้วอะ ซึ่งการที่นำเอาตัวละครที่เป็นเพศที่ 3 มาเป็นเมนเรื่อง หรือเรื่องราวรายหลักของเรื่อง เลยรู้สึกว่าเกิดการยอมรับมากขึ้น แล้วมันอยู่ในทิศทางที่ดีด้วยนะที่ทำให้ทุกคนยอมรับมัน ผลตอบรับเห็นได้อย่างชัดเจน เช่น การที่ซีรีส์วายเกิดขึ้นมาหลายเรื่อง ซีรีส์ยูริเองก็ด้วย แล้วมันก็ไม่ใช่แค่เพียงการยอมรับว่าให้แค่คนในประเทศไทยได้เห็นความสำเร็จนี้ด้วย แต่มันพาวัฒนธรรมไทยหลาย ๆ อย่าง และความเป็นไทยออกไปสู่สายตาชาวโลก ในเรื่องความหลากหลายทางเพศเองเกิดการที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ทำให้ผลักดัน ในเรื่องของสมรสเท่าเทียมหรือความเท่าเทียมทางเพศ อย่างที่รู้สึกว่าใน ปี 2000 หรือ 20 กว่าปีที่ผ่านมา มันเป็นการต่อสู้มาอย่างยาวนานในการที่ทำให้โลก ประชาชน หรือให้ประเทศ เกิดการยอมรับ ซึ่งปัจจุบันอาจจะไม่ได้ยอมรับ 100% นะ มันอาจจะไม่กลายเป็นสิ่งสากลที่เท่าเทียมจริง ๆ แต่มันเดินทางมาไกลมากจากจุดเริ่มต้นที่เราแทบไม่เห็นแสงสว่างเลย ตอนนี้มันเห็นแสงสว่างพอสมควรที่เราเชื่อว่า วันหนึ่งมันจะไปต่อได้ ในยุคนี้อาจจะไม่ใช่ช่วงอายุของพี่ก็ได้อาจจะเป็นช่วงยุคของเด็ก Generation ใหม่ รุ่นเหลน รุ่นหลานก็ได้ แต่วันนี้มันดีมากที่มันเกิดขึ้นและมันเป็นสิ่งที่เกิดความสำเร็จพอสมควร”
ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนจากมุมมองคนดูซีรีส์ในยุค 2000?
“ในมุมมองความคิดนี้ครับ จากที่มีมุมมองความคิดก่อนหน้าก็รู้สึกว่า พอเห็นตัวละครเรื่องความหลากหลายคือ มันต้องสนุกสิ ออกมาต้องสนุกเสมอ ต้องสร้างเสียงหัวเราะ หรือต้องเป็นตัวโจ๊กในเรื่อง บางคนใช้คำพูดเหล่านี้ แต่ในปัจจุบันเองมันเห็นได้ชัดมากว่า ตัวละครความหลากหลายทางเพศ เขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน เขาไม่ต่างอะไรจากชายหญิงเลยนะ เขามีความรู้สึกรัก ชอบ โกรธ หรือบางครั้งก็มีหม่น การที่เขาจะหลงทางเองหรือว่าการที่เขาจะมีความฝันและเดินหน้าต่อ การทำความฝันให้สำเร็จเนี่ย ความแตกต่างชัดขึ้น มันเห็นได้ เหมือนคำว่าความหลากหลาย ก็มีความหลากหลายจากการที่มีการยอมรับมากขึ้นในทั้งบทบาท มุมมองของทัศนคติคนดู มุมมองของคนทำละครหรือว่าผู้จัดเอง ทั้งบุคคลรุ่นใหม่ อย่างที่พี่เป็นบุคคลรุ่นใหม่ที่เป็นผู้จัดละคร รู้สึกชอบการที่มันมีความเท่าเทียมนะ ส่วนตัวมองว่าไม่ว่าจะเพศอะไรก็แล้วแต่ ทุกอย่างมันเท่ากันหมดแล้ว เพราะฉะนั้นที่ทำละครกับซีรีส์จะแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมหมด ซีรีส์แต่ละเรื่องหลายคนจะเห็นว่ามันมีเรื่องราว มีอาชีพเกี่ยวข้อง แสดงว่าในทุก ๆ อาชีพ หรือเรื่องราวที่เล่า มีหมดเลยไม่ว่าจะเป็นเพศอะไร สุดท้ายแล้วมันก็เป็นเรื่องราวของคนคนหนึ่ง บุคคลคนหนึ่งที่เขาก็มีบทบาท มีหน้าที่ มีความสำคัญเหมือนกัน”
พูดถึงความแตกต่างการยอมรับด้านความหลากหลายทางเพศ ในสมัยก่อนกับปัจจุบันนี้หน่อย
“สมัยก่อนอย่างที่เรารู้กันแหละครับว่า อาจจะยังไม่ได้รับการยอมรับ หรือที่ผู้ใหญ่หลาย ๆ คน เขาก็มองในมุมที่ไม่ใช่ในทางบวกขนาดนั้นด้วย เพราะว่ามันก็เกิดจากการที่มองในมุมเก่า ๆ แต่พอในปัจจุบันเกิดการมองมุมใหม่ ๆ รู้สึกว่าในสังคม ในเด็กใหม่นี้ มันมีการยอมรับมากขึ้นพอสมควร มีความคิดบวกมากขึ้น มีความคิดดีมากขึ้น แต่รู้สึกว่าในหลังเด็ก Generation นี้เป็นต้นไป ก็อาจจะเกิดการยอมรับ เกิดการพัฒนามากขึ้นอีก ถือว่าที่ทำออกมาในทิศทางที่ดีมากขึ้น”
แล้วจากประสบการณ์ในการทำเบื้องหน้า อยากพูดอะไรกับความหลากหลายทางเพศที่เขายอมรับกันมากขึ้นไหม?
“ก็ จริง ๆ อยากขอบคุณครับ อยากขอบคุณหลาย ๆ คนที่ยอมรับกันมากขึ้น อยากขอบคุณหลาย ๆ คนที่เปิดใจในเรื่องของส่วนนี้หรือแม้แต่หลายคนที่ยังไม่ได้เปิดใจเอง ก็อยากให้ลองง่าย ๆ ลองเปิดดูซีรีส์วายก็ได้ครับ แล้วคุณลองดูว่าจริง ๆ ความรักมันไม่มีข้อจำกัดทางเพศหรอก ทุกอย่างมีความเท่าเทียมกันหมด และสิ่งสำคัญคือ คนที่อาจจะเป็นบุคคลที่อยู่ในความหลากหลายทางเพศ บางคนก็อาจจะมีความไม่มั่นใจและกลัว เพราะฉันเป็นคนหลากหลายทางเพศไม่กล้าที่จะรักใคร หรือ ไม่กล้าที่จะทำอะไรบางอย่าง คุณลองมั่นใจและรักตัวเอง ภาคภูมิใจในตัวเอง และเอาความรักที่ให้กับตัวเอง มอบความรักนี้ให้แก่คนอื่น ๆ คนที่คุณรักหรือคนที่คุณอยากจะให้เขา และไม่ต้องเสียใจถ้าวันหนึ่งคุณอาจจะไม่สมหวัง หรือผิดหวังอะไรก็แล้วแต่ เพราะสุดท้ายแล้วคุณคือ คน ๆ หนึ่ง ที่มีสิทธิ์ที่จะรัก มีสิทธิ์ที่จะได้เรียนรู้ และเหมาะสมที่จะได้ความรักที่ดีครับ”
เรียบเรียงโดย สุพัตรา ผาบมาลา
Special Thanks: ขอขอบคุณ กัญญารัตน์ นามแย้ม ที่หาโอกาสและสัมภาษณ์มาได้ ขอขอบคุณฝ่ายพิสูจน์อักษร, ฝ่ายศิลปกรรม และฝ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง