Gunjan Saxena : The Kargil Girl (2020)  เหินฟ้าทะยานฝัน สู่การเป็นเรืออากาศเอกหญิงคนแรกของอินเดียไปกับกุณจัญ ศักเสนา

Gunjan Saxena : The Kargil Girl (2020) เหินฟ้าทะยานฝัน สู่การเป็นเรืออากาศเอกหญิงคนแรกของอินเดียไปกับกุณจัญ ศักเสนา

หนังเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องจริงของกุณจัญ ศักเสนา เรืออากาศเอกหญิงคนแรกของอินเดียที่ได้เข้าร่วมรบในสงครามระหว่างอินเดียและปากีสถาน โดยได้ปฏิบัติภารกิจทำหน้าที่ลำเลียงผู้บาดเจ็บ และส่งเสบียงให้แก่กองทัพอินเดีย อีกทั้งค้นหาตำแหน่งของปากีสถานในหุบเขาคาร์กีล ซึ่งตัวหนังได้ออกฉายในปี 2020 ทางออริจินอลเน็ตฟลิกซ์

ภายในเรื่องมีการตั้งคำถามถึงความสามารถในการทำงานของผู้หญิง ที่ผู้คนมักคาดหวังว่าผู้หญิงควรทำงานแค่ในบ้าน ลงหลักปักฐานอยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุขก็เพียงพอแล้ว ความคิดเหล่านี้กระจายอยู่ทุกซอกมุม หากผู้หญิงคนใดออกนอกกรอบมักถูกมองว่าทิ้งความเป็นผู้หญิงของตนเองไป พยายามจะเป็น “นาย” มากกว่า “คุณนาย” คำพูดเหล่านี้จะปรากฏขึ้น เมื่อผู้ชายมองว่าผู้หญิงไม่ควรลุกมาทำงานทหาร แต่ควรไปทำอาหารอยู่บ้านมากกว่า

“ผู้หญิงเขาไม่เป็นนักบินกันหรอก รู้ไหมว่าผู้หญิงเป็นอะไรได้” พี่ชายของกุณจัญตั้งคำถามต่อเธอถึงความใฝ่ฝันที่อยากเป็นนักบิน พร้อมกับยื่นถ้วยข้าวให้เธอถือแล้วพูดส่อถึงแอร์โฮสเตส เป็นนัยให้รู้ว่าหน้าที่จริงๆ ของผู้หญิงนั้นควรเป็นแบบนี้มากกว่าสิ่งที่เธอได้แต่ฝันหา

สังคมที่ชายเป็นใหญ่ทำให้ผู้หญิงถูกลดถอนความสามารถที่แท้จริงไป ในตอนหนึ่งของหนังกุณจัญหมดความอดทนต่อสิ่งที่เธอถูกเลือกปฏิบัติ นับตั้งแต่ย่างเท้าเข้ามาในค่ายทหารอากาศ อาจเพราะเธอเป็นผู้หญิงคนเดียวที่ผ่านการคัดเลือก ทำให้เมื่อเธอเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในสถานที่ซึ่งเต็มไปด้วยผู้ชาย เสมือนกับว่าเธอเข้ามาเปลี่ยนโลกโดยฉับพลัน การกดข่มโดยเอาความเป็นใหญ่ของตนเองมาใช้กับกุณจัญจึงไม่ใช่เรื่องยากนัก

“ความอ่อนแอของฉันไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นความกลัวของท่าน ท่านกลัวว่าถ้าผู้หญิงคนนี้ได้เป็น ‘นายเรืออากาศ’ แล้วจะต้องทำความเคารพเธอ และนั่นจะเป็นจุดจบของความเป็นชายของท่าน” 

กุณจัญพยายามต่อสู้ต่อความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น แต่เป็นเรื่องยากเมื่อบริบทช่างบีบคั้นให้เธอออกนอกวงโคจรที่เธอใช้ความสามารถเข้ามา เธอถอดใจที่จะเปลี่ยนความคิดของคนทั้งโลก โดยการหันหลังให้กับทหารอากาศ และกลับบ้านเพื่อทบทวนต่อสิ่งที่ผ่านมา แต่ท้ายที่สุดแล้วเธอก็ถูกเรียกตัวกลับมาเพื่อเข้าร่วมต่อสู้ในสงครามระหว่างอินเดียและปากีสถาน

หลังจากนั้นกุณจัญ ศักเสนาได้รับการยกย่องว่าเป็นทหารอากาศหญิงคนแรก ที่เป็นต้นแบบให้กับผู้หญิงในอินเดียอีกหลายร้อยพันคนที่ต้องการจะข้ามเส้นแบ่งของเพศ เพื่อเข้ามาเป็นทหารอากาศอย่างเธอ ซึ่งปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่หญิง 1,625 คน ประจำในกองทัพอากาศของอินเดีย แม้การต่อสู้ของเธอจะสิ้นสุดลง แต่วีรกรรมของเธอจะเป็นที่จดจำตลอดไป 
 

“เหินฟ้าอย่างสง่างาม และปูทางให้ความเสมอภาคบนฟ้า”

เรื่อง : กุลชาต เจริญศิริ, สินนภา ดีเลิศพัฒนา

Top