"บุญเบิกฟ้า" ประเพณีประจำจังหวัดมหาสารคาม

"บุญเบิกฟ้า" ประเพณีประจำจังหวัดมหาสารคาม

“บุญเบิกฟ้า” ประเพณีที่ถูกสืบทอดผ่านความเชื่อในภาคอีสาน เหมือนสัญญาณเตือนให้ชาวอีสานเตรียมตัวเข้าสู่ฤดูกาลทำการเกษตร เป็นเวลาที่ชาวบ้านต้องการให้ฟ้าเปิด เพื่อเทพยดาจะได้ส่งฝนลงมา เริ่มฤดูกาลทางการเกษตร โดยจะมีพิธีการสู่ขวัญข้าว บูชาเทวดา บูชาพญาแถน บูชาพระแม่โพสพ ในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ของทุก ๆ ปี และในปัจจุบันจังหวัดมหาสารคามได้ยกประเพณีนี้ เพื่อเป็นการขอบคุณและตอบแทน จนกลายเป็นประเพณีอันยิ่งใหญ่ประจำจังหวัดมหาสารคาม

นอกจากประเพณีบุญเบิกฟ้าจะเป็นงานรวมตัวกันของชาวบ้านที่มาร่วมกันทำพิธีกรรมสู่ขวัญข้าว บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังเป็นเหมือนกุศโลบายที่ให้ชาวบ้านได้ช่วยกันปลูกกล้า ดำนา และเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวชาวบ้านก็จะพากันทำผ้าป่าโดยนำข้าวที่เป็นผลผลิตที่ได้ไปยังวัดประจำหมู่บ้าน

บุญเบิกฟ้าจังหวัดมหาสารคามมีการจัดขึ้นครั้งแรกที่บ้านแบก ต.นาทอง อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม ในปี พ.ศ. 2527 - 2528 เป็นเวลา 2 ปี ต่อมาในปีพ.ศ. 2532 “บุญเบิกฟ้า” ก็ได้ถูกหยิบยกให้เป็นประเพณีประจำจังหวัดมหาสารคาม โดยนโยบายการส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวของภาครัฐ ภายใต้ชื่อ “งานบุญเบิกฟ้าและกาชาดประจำจังหวัดมหาสารคาม” ที่เน้นการออกร้านขายสินค้าและกิจกรรมการแสดง เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวในภาคอีสาน และส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจเพิ่มเงินหมุนเวียน ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการร้านค้า รวมถึงเป็นสถานที่พักผ่อนสำหรับนักท่องเที่ยว มากกว่าการส่งเสริมผลประโยชน์ให้กับชุมชนหรือชาวบ้านในท้องถิ่น รวมถึงอนุรักษ์ความเชื่อ และวัฒนธรรมท้องถิ่นเหมือนอย่างที่เคยเป็น

ถึงแม้จะยังมีพิธีสู่ขวัญข้าวอยู่ในวันแรกของการจัดงาน แต่จะมีสักกี่คนที่เป็นเกษตรกรนั่งร่วมอยู่ในพิธีกรรม จนนำไปสู่คำถามว่า เมื่อ “ประเพณีบุญเบิกฟ้า” กลายมาเป็นชื่อของงานท่องเที่ยวประจำจังหวัด แต่ทำไมพิธีกรรมถูกลดทอนลง และกิจกรรมเปลี่ยนแปลงไป ทำให้สูญเสียความสำคัญไปโดยปริยาย และแก่นที่แท้จริงของประเพณีนี้จะถูกถ่ายทอดออกมาเมื่อไหร่ ไม่ใช่เพียงถูกซ่อนไว้อยู่หลังม่านงานแสดงจนในที่สุดอาจจะสูญหายไป เหลือไว้เพียงแค่ชื่อ...

บุญเบิกฟ้ายังคงจัดขึ้นในทุก ๆ ปี แต่ก็ต้องต่อท้ายด้วยคำว่างานกาชาดเสมอ เหมือนเป็นการสร้างความยั่งยืนให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการมากกว่าการเน้นไปที่ชุมชนท้องถิ่น อย่างการเสริมสร้างกิจกรรมที่ให้โอกาสและประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น เช่น การให้ความสนับสนุนชาวบ้านในการขายสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นในงานบุญเบิกฟ้าโดยไม่มีค่าใช้จ่าย อีกทั้งใช้รายได้จากกิจกรรมสนับสนุนโครงการพัฒนาส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนอาจเป็นทางเลือกที่ดีในการสร้างความยั่งยืนและประสบความสำเร็จในระยะยาวให้กับชุมชนท้องถิ่น

 

อ้างอิงรูปภาพ : mgronline

Top