เฮ็ดเอง ไซ้เอง เรื่อง ไส้เดือนฟันเฟืองของดิน

เฮ็ดเอง ไซ้เอง เรื่อง ไส้เดือนฟันเฟืองของดิน

“ดิน” พื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิตของอาชีพเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นการทำนา ทำไร่ ล้วนแต่มีดินที่ดีเป็นเครื่องมือหลักในการประกอบอาชีพให้ได้ผลผลิตที่งอกงามและสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว ซึ่งอาชีพเหล่านี้ถือเป็นลักษณะอาชีพที่ปรากฏให้เห็นอย่างมากในหมู่พี่น้องชาวอีสาน หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน ยึดถือทำการเกษตรมาโดยตลอด
      แต่รู้หรือไม่ถึงแม้ดินจะเป็นพื้นฐานหลักในการทำเกษตร แต่หากฐานรากนั้นไม่แข็งแรงพอ ก็จำเป็นจะต้องพึงพาตัวช่วยที่ทำให้ดินมีความพร้อมต่อการเพาะปลูก ที่ธัญทิพย์ฟาร์ม เกษตรวิถีอินทรีย์ มีหนึ่งเคล็ดลับที่เกษตรกรหนุ่มชาวร้อยเอ็ด ใช้เป็นเครื่องปรุงสำหรับดิน เพิ่มประสิทธิภาพดินให้สามารถทำนา ทำไร่ ให้มีมูลค่าสูงขึ้น โดยการใช้มูลของเจ้าไส้เดือนเพียงดิน หรือ African Night Crawler (AF) มาผลิตน้ำหมักมูลไส้เดือนสำหรับใช้รดดิน ทำให้ดินมีคุณภาพและธาตุอาหารเพียงพอต่อพืช
      ซึ่งคอลัมน์ในวันนี้คือเฮ็ดเองใช้เอง ที่เราจะนำเสนอตั้งแต่การเลี้ยงไส้เดือนไปจนถึงการทำน้ำหมักมูลไส้เดือนใช้เองของเกษตรกรหนุ่มไฟแรง เริ่มกันที่ไส้เดือนเพียงดิน ไส้เดือนสายพันธุ์ที่กินอาหารเก่ง โดยเฉพาะอาหารที่มีโปรตีนสูง ขยายพันธุ์ได้เร็ว มีลูกดก และตัวโต เป็นสายพันธุ์ที่นิยมนำไปใช้เป็นอาหารโปรตีนสำหรับเลี้ยงกบ นก และปลา ส่วนมูลไส้เดือนนั้นนำไปทำเป็นปุ๋ยใส่ต้นไม้ หรือพืชผักได้เป็นอย่างดี ซึ่งการเลือกใช้ไส้เดือนดินมาผลิตน้ำหมักถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สะท้อนให้เห็นถึงการเลือกใช้ธรรมชาติในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติที่ชาวอีสานยังใช้เป็นเครื่องมือทำมาหากิน
      ไส้เดือนเพียงดิน เป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่ายและประหยัดพื้นที่ในการเพาะพันธุ์ เพราะวัสดุอุปกรณ์ในการเลี้ยงไส้เดือนมีเพียง เบดดิ้ง 2 ส่วน ขุยมะพร้าว เศษกระดาษ และดินร่วน อย่างละ 1 ส่วน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นส่วนผสมที่ดีที่สุดสำหรับตัวไส้เดือน โดยต้องดูจากขนาดของวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการเพราะเลี้ยง หลังจากลงเลี้ยงไปได้ประมาณ 2-3 แล้ว จึงนำเศษผัก ผลไม้ ที่รสหวาน อย่าง ผักกาดขาว กวางตุ้ง ผักบุ้ง แตงโม ขนุน กล้วยน้ำว้า แคนตาลูป ฟักทองสุก เพราะจะเป็นที่โปรดปรานอย่างมากของเจ้าไส้เดือน
      สิ่งที่สำคัญอีกหนึ่งอย่างคือขี้วัว โดยจะนำมาแช่ไว้ก่อนประมาณ 10 วัน เจ้าขี้วัวนี่แหละถือเป็นอาหารมื้อสำคัญของไส้เดือนเลยทีเดียว นอกจากนี้ อุณหภูมิที่เหมาะสมในการเพาะเลี้ยงไส้เดือนจะต้องอยู่ระหว่าง 12-25 องศา เซลเซียส หากอุณหภูมิต่ำหรือสูงกว่านี้ ไส้เดือนจะไม่ขยายพันธุ์ ทั้งหมดนี้มาพร้อมกับความชื้นที่พอดีสำหรับการเจริญเติบโต ไม่ควรให้น้ำแฉะหรือแห้งจนเกินไป ซึ่งผลผลิตที่คนเลี้ยงไส้เดือนรอคอยก็คือมูลของไส้เดือน สำหรับนำมาผลิตน้ำหมักมูลไส้เดือน ใช้รดดินในพื้นที่การเกษตรของตนเอง ทำให้ดินมีคุณภาพ มีสารอาหารเพียงพอต่อการเพาะปลูก
      ใครจะคิดว่ามูลของไส้เดือนเพียงดินจะมีประโยชน์มากมายขนาดนี้ เพราะนอกจากประโยชน์ของเจ้าไส้เดือนที่เรารู้กันทั่วไป คือช่วยพรวนดินให้มีความร่วนซุยเหมาะแก่การเพราะปลูก มูลของเจ้าไส้เดือนก็มีประโยชน์ไม่แพ้กันเลย ซึ่งมูลหรือที่เราเรียกกันง่ายๆว่าขี้ไส้เดือนจะประกอบไปด้วย ธาตุหลัก ธาตุรอง และมีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์กว่า 200 ชนิด ซึ่งสูตรสำเร็จในการทำน้ำหมัก คือการนำมูลไส้เดือนผสมกับจุลินทรีย์หน่อกล้วยและไตโคโดม่า(ราเขียวที่เป็นประโยชน์ต่อพืช) ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้พืชรากเน่า โคนเน่า เพิ่มเติมด้วยบอระเพ็ดหมัก ซึ่งจะทำให้แมลงศัตรูพืชที่เข้ามากัดกินพืชนั้นตาย
      ด้วยวิถีชีวิตที่ยึดถืออาชีพเกษตรกร ที่เป็นทั้งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำมาโดยตลอด ทำให้วิธีนี้ถือเป็นทางเลือกสำคัญในการดำรงชีวิต พร้อม ๆกับการลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าให้กับอาชีพ อีกทั้งยังเพิ่มผลผลิตให้เปลี่ยนเป็นเงินตรานำมาหล่อเลี้ยงชีพ
      ในการประกอบอาชีพเกษตรกร สิ่งสำคัญคืออย่านำสารเคมีมาทำลายธรรมชาติ ปล่อยให้ธรรมชาติเป็นตัวกำหนด แล้วเกษตรกรก็คอยปรับปรุงและเลือกใช้แนวทางในการหาเลี้ยงชีพแบบชาวอีสาน ด้วยการใช้เจ้าไส้เดือนเพียงดินเป็นหัวใจสำคัญในการประกอบอาชีพ เพราะบางครั้งวิชาความรู้เหล่านี้อาจส่งต่อไปให้กับเกษตรกรรุ่นใหม่ ได้ใช้ต่อยอด เรียนรู้ พัฒนาอาชีพเกษตรกรให้คงอยู่คู่กับชาวอีสาน แม้บางครั้งอาจจะได้ผลผลิตที่ช้าไปบ้าง แต่ในระยะยาว การใช้ไส้เดือนดินจะกลายเป็นแหล่งขุมทรัพย์ที่ไม่อาจประเมินค่าได้ เพราะเจ้าตัวเล็กเหล่านี้ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญเหลือเกินในการดำรงอยู่ของชาวอีสาน
      สำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงไส้เดือนและทำน้ำหมักมูลไส้เดือนใช้เองสามารถติดต่อ นายนิติพงษ์ เจาะจง เจ้าของธัญทิพย์ฟาร์ม เกษตรวิถีอินทรีย์ ได้ที่บ้านโนนโพธิ์ ตำบลนางาม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด หรือโทร 084-663-3327 และLine : tanyatip101 ซึ่งทางธัญทิพย์ฟาร์มก็ยินดีต้อนรับแขกทุกท่านเข้ามาเยี่ยมเยือนแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่จริงของฟาร์ม

Top