[ม่วนกุบ] ผีตาโขน

[ม่วนกุบ] ผีตาโขน

ผีตาโขน

 

          “ผีตาโขน” ไม่มีใครไม่รู้จักประเพณีนี้ หลายคนคงนึกภาพผีตาโขนที่สวมชุดทำจากเศษผ้านำมาเย็บติดกัน ส่งเสียงดังจากหมากกะแหล่ง (ลักษณะคล้ายกระดิ่งแขวนคอกระบือ) พร้อมถืออาวุธประจำกายเป็นดาบหรือง้าว ทำด้วยไม้เนื้ออ่อน

          ต้นกำเนิดของผีตาโขน เดิมมีชื่อเรียกว่า “ผีตามคน” เป็นเทศกาลที่ได้รับอิทธิพลมาจาก มหาเวสสันดรชาดก ตามตำนานเล่าว่า เมื่อครั้งพระเวสสันดรและนางมัทรี จะเดินทางออกจากป่ากลับสู่เมือง มีผีป่าและสัตว์ต่าง ๆ ที่รักพระเวสสันดรและนางมัทรี พากันแฝงตนมากับชาวบ้านเพื่อมาส่งทั้งสองกลับสู่เมืองด้วยความอาลัย นั่นก็คือที่มาของ “ผีตามคน” หรือ “ผีตาขน” จนกลายมาเป็น “ผีตาโขน” ในปัจจุบัน

          ส่วนประกอบที่สำคัญของประเพณีนี้ที่ขาดไม่ได้ ก็คือ หน้ากากผีตาโขน เป็นงานศิลปะพื้นบ้านที่ถูกถ่ายทอดกันมาสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ด้วยรูปแบบหลากหลายตามจินตนาการของผู้ทำและตามอิทธิพลต่าง ๆ ที่ได้รับ แต่ก็ยังรักษาเอกลักษณ์ของความเป็นผีตาโขนได้อย่างดี หน่วยงานทั้งทางภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถานศึกษา ล้วนให้การส่งเสริม สนับสนุน การสอนงานประดิษฐ์ การผลิตสินค้าเกี่ยวข้องกับผีตาโขน

          ชนิดของผีตาโขนที่เราเห็นส่วนใหญ่มีอยู่ 2 แบบ แบบแรกจะเป็นผีตาโขนใหญ่ ซึ่งทำมาเป็นหุ่นรูปผีจากไม้ไผ่สานมีขนาดใหญ่มากกว่าคนธรรมดาถึง 2 เท่า ประดับตกแต่งรูปร่างหน้าตาด้วยเศษวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น คนเล่นจะเข้าไปอยู่ข้างในหุ่น ในแต่ละปีจะทำผีตาโขนใหญ่เพียง 2 ตัว คือชาย 1 ตัว หญิง 1 ตัว สังเกตจากเครื่องเพศปรากฏชัดเจนที่ตัวหุ่น ผู้มีหน้าที่ทำผีตาโขนใหญ่จะมีเฉพาะกลุ่มเท่านั้น เพราะผู้อื่นไม่มีสิทธิ์ทำ ต้องได้รับอนุญาตจากผีหรือเจ้าก่อน และผีตาโขนเล็ก จะเป็นการนำคนมาใส่หน้ากากแทน ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็กหรือผู้ใหญ่ ก็สามารถเข้าร่วมสนุกได้ทุกคน ผู้เล่นผีตาโขนเล็กจะสวมหน้ากากและเครื่องแต่งกายประกอบด้วย หน้ากากผีตาโขนเล็ก ซึ่งทำจากส่วนโคนของก้านมะพร้าวและหวดนึ่งข้าวเหนียว โดยนำมาเย็บติดกันแล้วเขียนหน้าตา ทำจมูกเหมือนผี ในส่วนของชุดแต่งกายจะมีสีฉูดฉาดบาดตา โดยเย็บเศษผ้าเป็นเสื้อและกางเกง คลุมร่างกายให้มิดชิด เอกลักษณ์ของผีตาโขน คือ “หมากกะแหล่ง” และดาบไม้ หมากกะแหล่งคือเครื่องดนตรีรูปร่างคล้ายกระดิ่งหรือกระดิ่งแขวนคอวัว ผีตาโขนจะใช้หมากกะแหล่งแขวนติดบั้นเอว เมื่อเดินโยกตัวหรือเต้นเป็นจังหวะ ขย่มตัวหรือส่ายสะโพกเสียงหมากกะแหล่งก็จะดัง ในมือถือดาบไม้ ที่เอาไว้ควงหลอกล่อผู้ชมโดยเฉพาะสาว ๆ และเด็ก ซึ่งปลายดาบนั้นแกะสลักเป็นรูปอวัยวะเพศชายแถมทาสีแดงให้เห็นอย่างเด่นชัด การเล่นแบบนี้ถือไม่เป็นการหยาบคาย เพราะมีความเชื่อว่าหากนำอวัยวะเพศหญิงและชายมาเล่นมาโชว์ในพิธีแห่และงานบุญบั้งไฟ จะทำให้พยาแถนพอใจ ฝนจะตกตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์

          และประเพณียังคงมีความเชื่อกันว่า สำหรับคนที่เล่นหรือมีการแต่งตัวเป็นผีตาโขนใหญ่ ต้องถอดเครื่องแต่งกายผีตาโขนใหญ่ออกให้หมด และนำไปทิ้งในแม่น้ำหมัน ห้ามนำเข้าบ้าน เชื่อว่าเป็นการทิ้งความทุกข์ยากและสิ่งเลวร้ายไป และมีอีกความเชื่อหนึ่งที่ว่า เป็นการละเล่นเพื่อบวงสรวงบูชาดวงวิญญาณบรรพชนที่เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งจะกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองบ้านเมือง ดลบันดาลเพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ หรือความหายนะ ดั้งนั้นเพื่อให้ดวงวิญญาณบรรพชนพอใจ ชาวบ้านจึงจัดให้มีการละเล่นผีตาโขนขึ้นมา

 

แหล่งที่มาของข้อมูล

https://travel.trueid.net/detail/V27xVYEpAxW3

baanjomyut.com/library_2/phi_ta_khon/03.html

Top