ความคิดเปรียบดั่งโลกอีกใบ

ความคิดเปรียบดั่งโลกอีกใบ

โลกใบเล็ก ๆ ของแต่ละคน เริ่มต้นขึ้นจากการเรียนรู้ จดจำ พัฒนาจนเติบโตกลายเป็นโลกใบที่กว้างใหญ่ขึ้นนั้น จะต้องพานพบกับกี่ร้อยพันเรื่องราวมาก่อน  วิธีคิดของพวกเขาจึงเป็นการสะท้อนแนวทางออกมาว่าจะรับมือยังไงกับสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่  โลกของเราจึงเปรียบเสมือนช่วงเวลาของชีวิตก็ว่าได้ ซึ่งทุกคนมีความแตกต่างกัน เราจะได้เรียนรู้วิธีคิดทั้งสองแบบต่อจากนี้ รวมถึงความจำเป็นที่เราจะต้องปรับเปลี่ยนความคิดที่มีอยู่แต่เดิม ให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต 

    เสียงดนตรีที่บรรเลงดังออกมาเป็นท่วงทำนองที่ไพเราะจับใจ ใครที่บังเอิญผ่านมาก็จะได้ฟังบทเพลงสนุกสนานบทนี้ แล้วจะได้พบกับเด็กผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งกำลังนั่งเล่นกีตาร์อยู่ในสวนพาเพลิน นิ้วเรียวขยับเปลี่ยนคอร์ดตัวโน้ตไปตามจังหวะอย่างชำนาญ สายตาเขาไม่ได้จดจ่ออยู่ที่ตัวกีตาร์ด้วยซ้ำไป เขามองดูบรรยากาศรอบ ๆ ปากก็เอื้อนเอ่ยเป็นเสียงทุ้มต่ำ แหบทรงเสน่ห์ ฟังแล้วจะรู้สึกถึงความละมุนละไม เพลิดเพลินไปกับเสียงเพลงได้ง่าย ๆ อย่างแน่นอน  

    “ฟังกี่ทีก็เพราะจริง ๆ เลยนะแซม” เสียงปรบมือพร้อมคำพูดเอ่ยชมเพื่อนด้วยความปีติ  

    หลังจากแซมเล่นจบ เขามองไปตามเสียงนั้นอย่างมีความสุข ใครเล่าจะไม่ชอบคำชมจากการได้เล่นได้ร้องเพลงด้วยตนเอง เขาจึงเอ่ยชวนเพื่อนไปว่า  “ลองเล่นดูไหม สมิธ” 

    “จะดีหรือ... ฉันไม่เคยเล่นมาก่อนเลย” สมิธ ตอบด้วยเสียงแผ่วเบาไม่มั่นใจ 

    “ของอย่างนี้มันต้องได้ลองทำความคุ้นเคย ฝึกบ่อย ๆ” แซมยื่นกีตาร์ไปให้สมิธรับไปลองเล่นดู 

    แซมเริ่มอธิบายแนะนำคอร์ดง่าย ๆ ให้เพื่อนลองจับตามดู พอจับได้มั่นกับมือ สมิธจึงลองดีดกีตาร์ด้วยตัวเขาเอง เกิดเป็นเสียงแปร่ง เขาจึงกดนิ้วลงไปบนสายให้แน่นขึ้น แต่มันก็ยังคงมีเสียงแปร่ง ๆ ออกมาอยู่ดี ถึงจะน้อยลงก็ตาม สมิธคิดว่ามันยากที่จะคุมน้ำหนักมือให้มั่นคง หรือบางทีเขาคงไม่มีความสามารถในทางดนตรี ความคิดหนึ่งบอกกับเขาแบบนั้น ทำไม่ได้หรอก... ฉันไม่ได้มีพรสวรรค์เหมือนกับแซมนะ นิ้วก็ไม่เรียวยาวเหมือน หัวก็ช้า ฉัน... ก่อนที่เขาจะฟุ้งซ่านไปมากกว่านี้เสียงของแซมก็ดังขึ้น 

    “ครั้งแรกมันก็เป็นอย่างงี้แหละ เดี๋ยวลองฝึกบ่อย ๆ สมิธต้องเล่นได้ดีแน่นอน” แซมพูดขึ้นเพื่อให้กำลังใจเพื่อนของเขา  

    “ฉันว่าฉันคงเล่นไม่ได้หรอก ฉันไม่มีพรสวรรค์ในด้านนี้เหมือนแซม” สมิธพูดพร้อมส่งกีตาร์คืนให้แซม 

    ในความคิดหนึ่งของแซมกลับเถียงขึ้นมาทันทีว่า ไม่มีของอย่างพรสวรรค์อยู่หรอก จะมีก็แต่ความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่า จนกว่าจะประสบความสำเร็จเท่านั้นเอง 

    สมิธนั้นมีความคิดปิดกั้นการเรียนรู้ของตัวเอง เพราะเขายึดติดกับความสมบูรณ์แบบ กลัวที่จะล้มเหลวเลยล้มเลิกความตั้งใจที่มี หันเหตัวเองไปทางอื่นอยู่เสมอ เขาเชื่อว่าความสามารถไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เพราะมันยาก คนที่ทำได้เพราะเขาเก่งและมีพรสวรรค์ 

    แซมเป็นคนที่มีความฝันอยากจะเล่นกีตาร์ อยากจะมีความสามารถพิเศษอะไรสักอย่าง แซมคิดว่าเขาทำได้ทุกอย่างที่ต้องการ พ่อแม่ของแซมคือผู้สนับสนุนทุกอย่างในชีวิต ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเล็กน้อยเพียงใด ทั้งสองก็ให้แซมได้ทดลองทำมันทุกอย่าง แม่มักจะบอกว่า ก่อนจะทำได้จะต้องมีการลองผิดลองถูกก่อนเสมอ เพราะไม่มีใครไม่เคยผิดพลาด และอย่าปล่อยโอกาสแห่งการเรียนรู้หลุดลอยไป  

    แซมเลือกเล่นกีตาร์ เขาต้องใช้ความพยายามฝึกฝนอยู่เป็นประจำตลอดเวลาหลายปีในช่วงที่ผ่านมา วันแล้ววันเล่า ทำให้เขาในตอนนี้เป็นคนที่เล่นกีตาร์ได้ดีมาก ๆ แซมมีความสุขที่ได้ฝึกเล่นเพลงใหม่ ๆ ที่เขาชอบ เขาเปิดรับความท้าทายเสมอ ไม่เคยจะหยุดพัฒนาตนเอง แซมมักจะบอกกับคนรอบข้างว่า เราทุกคนสามารถเรียนรู้หรือทำสิ่งต่าง ๆ ที่อยากจะทำได้ เพียงแค่มีความพยายามตั้งใจกับเรื่องนั้น ๆ 

    เสียงสะท้อนที่ดังก้องออกมาจากภายในจิตใจเรามักมีความคิดสองแบบเสมอ โลกของเราก็มีคนอยู่ 2 ประเภท โดยคุณ Carol Dweck ผู้คิดค้นทฤษฎีเกี่ยวกับ Mindset แบ่งประเภทของ Mindset เป็น 2 แบบ ได้แก่

    1) Growth Mindset (กรอบความคิดแบบเติบโต) หรือก็คือคนที่เปิดกว้างที่จะเรียนรู้ 

    2) Fixed Mindset (กรอบความคิดแบบยึดติด) คนที่ปิดกั้นตัวเองจากการเรียนรู้ 

    หลายครั้งที่เรามักจะได้ยินคำพูดในทางความคิดตัดกำลังใจบ่อย ๆ เริ่มตั้งแต่การเปรียบเทียบตัวเองกับใครสักคนหนึ่ง การปฏิเสธไปก่อนทั้งที่ยังไม่ได้ลองทำก็มี บ้างก็บอกว่า เขาเก่งอยู่แล้ว คำพูดที่ยอมแพ้ของเพื่อนของแซมกับความชอบที่ยากไปเหล่านี้ “เพราะเขามีพรสวรรค์ที่มีติดตัวมาตั้งแต่เด็ก” “ทำไม่ได้หรอก” “เราทำมันไม่ได้เรื่องเลย” “อย่าทำเลยดีกว่า” “ไม่ได้เก่งอะไรสักอย่าง” มันจึงทำให้เขาไม่กล้าลงมือทำ แต่ถ้าเขาเปลี่ยนมุมมองของความคิดให้เติบโตขึ้น นั่นก็คือการเปิดรับการเรียนรู้ มันคือโอกาสที่จะทำให้เขาได้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง ไม่กลัวที่จะล้มเหลว เพราะความล้มเหลวทำให้เราเห็นถึงข้อผิดพลาดของตนได้ดีที่สุด นั่นจึงทำให้เราประสบความสำเร็จนั่นเอง 

    บางคนมีความคาดหวังต่อตัวเองในหลาย ๆ เรื่องนั้น ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เกิดปัญหา ทั้งการเรียน การทำงาน ความฝัน การค้นหาเส้นทางความชอบของตัวเองผ่านสิ่งต่าง ๆ มนุษย์จะมีมุมมองหรือกรอบความคิดแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความเชื่อที่มีผลต่อพฤติกรรมที่แสดงอยู่ในตัวมนุษย์เอง ทำให้เกิดเป็นบุคลิก ทัศนคติ และประสบการณ์ต่าง ๆ จะเห็นได้ชัดเจนเมื่อตอนที่เราตัดสินใจในเรื่องอะไรบางอย่าง ทุกการตัดสินใจจึงเป็นผลลัพธ์ที่มาจากความคิดไตร่ตรองอย่างดีแล้ว อาทิ การเลือกสาขาเรียน การทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม สิ่งที่อยากจะเป็นในอนาคต การเปรียบเทียบตัวเอง นั่นจึงเป็นสิ่งที่สร้างตัวเราให้กลายมาเป็นเราในปัจจุบันนี้ เพราะการปรับเปลี่ยนความคิดควรเริ่มที่ตัวเอง ทุกอย่างไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร และอย่ากลัวที่จะคิดที่จะทำ ให้ได้ลองทำ ลองพยายาม ก่อนจะบอกตัวเองว่าทำไม่ได้ 

    กรอบของความคิดเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงไปได้ในทั้งสองแบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบแรก หรือแบบที่สอง เราเชื่อว่าทุกคนมีทั้งแซมและสมิธอยู่ในตัวเอง เพราะฉะนั้น ตัวเราต้องตระหนักถึงกรอบความคิดของตนเองว่าดีหรือไม่ดี จึงจะได้รู้ว่าการพัฒนาศักยภาพวิธีการคิดของเราที่มีอยู่แต่เดิมให้ดียิ่งขึ้น จะต้องออกมาจากปัญหาเหล่านั้นเสียก่อน จึงจะทำให้คุณสามารถพัฒนาตนเองให้มีความคิดที่เติบโตได้นั่นเอง 

    “ช่วงเวลาของชีวิตมักมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทั้งคาดเดาได้ และคาดเดาไม่ได้นั่นจึงเป็นเหตุผลให้มนุษย์ต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพื่อจะได้ใช้ชีวิตให้มีความสุขในทุกวัน

 

โดย Raon

 

Top