กำเนิดเพศของสี กับบทบาทตัวแทนความเป็นผู้หญิงผ่านสีชมพู

กำเนิดเพศของสี กับบทบาทตัวแทนความเป็นผู้หญิงผ่านสีชมพู

          คุณเคยได้ยิน หรือคุณเคยพูดคำเหล่านี้ไหม “ชอบสีชมพูเหรอ เป็นตุ๊ด เป็นแต๋วปะเนี่ย” คำที่ใครต่อใครคงต้องเคยได้ยินอยู่บ่อย ๆ แล้วคุณเคยสงสัยไหมว่า ในช่วงยุค 2000s นั้น ทำไมการที่ผู้ชายสักคนชื่นชอบสีชมพู ถึงถูกมองว่าไม่ใช่ผู้ชายที่เป็นเสตรท แล้วทำไมถึงถูกเหยียดทั้ง ๆ ที่มันเป็นแค่สีกันนะ

          ในช่วงยุคสมัยปี 2000s นั้น ถือว่าเป็นยุคสมัยที่มีสไตล์และเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มต้นเข้าสู่ยุคดิจิทัล และเป็นยุคที่มีความเป็นตัวของตัวเองไม่ต่างจากยุคก่อน ๆ เลยแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่เริ่มเข้ามามีบทบาททีละนิด ของเล่น ละคร หรือหนังต่าง ๆ รวมทั้งในเรื่องของแฟชั่นที่มีกลิ่นอายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีความโดดเด่นในเรื่องของสีสันเป็นพิเศษ นั่นจึงทำให้แฟชั่นเหล่านี้กลายเป็นภาพจำของยุคสมัยปี 2000s หรือที่เราเรียกกันว่า แฟชั่น Y2K ซึ่งในช่วงเวลาสองถึงสามปีที่ผ่านมานี้ กระแสแฟชั่น Y2K กลับมาฮิตและได้รับความนิยมอีกครั้ง

          Y2K คือชื่อเรียกของแฟชั่นยอดฮิตในปี 2000s ลักษณะการแต่งตัวส่วนใหญ่เป็นเสื้อครอปเอวลอย ชุดที่พอดีกับร่างกาย เครื่องประดับที่ประกอบไปด้วยสีชมพูวิบวับหรือโบผูกคอ ของชำร่วย และของตกแต่งห้องต่าง ๆ รวมไปถึงแฟชั่นการทำสีผมไฮไลท์ เรียกได้ว่าเป็นเทรนด์ที่จัดว่ามาแรงสุด ๆ ไปเลยในสมัยนั้น ซึ่งโทนสีของเสื้อผ้าในยุคนั้นค่อนข้างไปทางสีที่ฉูดฉาด หรือไปในโทนสีชมพู สีม่วง สีฟ้า หรือสีพาสเทล ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าคนที่แต่งสไตล์ Y2K ต้องเป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเองในระดับหนึ่ง ต้องกล้าที่จะแต่งตัว ไร้ความกังวลใจ ทั้งในเรื่องของรูปร่าง หน้าตา สีผิว ไม่ว่าจะหญิงหรือชาย ซึ่งผิดกับเมื่อประมาณ 20 ปีก่อนที่ผู้คนไม่เปิดกว้างในการแต่งตัวสักเท่าไหร่

          แล้วคุณรู้หรือไม่ ว่าเรื่องสีเองก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ตรงที่สีเหล่านี้ไม่ได้ให้แค่ผลดีในด้านรูปลักษณ์ที่สวยงามบนเสื้อผ้าหรือสิ่งของต่าง ๆ แต่เมื่อสีถูกนำมาโยงเข้ากับบทบาทเรื่องเพศแล้ว มันกลับมีผลด้านลบด้วย เปรียบเหมือนดาบสองคมเลยล่ะ อย่างสีชมพูที่เป็นเหมือนตัวแทนของผู้หญิงในสมัยก่อน เมื่อใดที่เห็นสีชมพูที่ติดอยู่บนสิ่งของต่าง ๆ มันบ่งบอกความเป็นผู้หญิงออกมาในทันที เพราะสีชมพูให้ความนุ่มนวล อ่อนโยน ความไร้เดียงสา ความหวาน ความบอบบาง ความอ่อนไหวทางอารมณ์ และความไม่เป็นผู้ใหญ่ นั่นจึงก่อเกิดเป็นความเชื่อของคนในสมัยนั้นที่มักจะมองว่าสีชมพูคือสีของผู้หญิงเท่านั้น ทั้งยังถูกตีความให้หมายถึงสิ่งที่ไม่จริงจัง ยกตัวอย่าง เช่น เรจินา จอร์จ ตัวละครใน Mean Girl (2003) ที่ออกฉากทีไรก็เห็นแต่เธอในชุดสีชมพู ส่วน แอลล์ วูดส์ นางเอกย้อมผมสีบลอนด์จากเรื่อง Legally Blonde (2001) เอง ที่มักจะใส่เสื้อผ้าสีชมพูทั้งตัว รวมทั้งเครื่องประดับและรองเท้า จวบจนเธอบอกว่าจะสอบเพื่อเรียนกฎหมายที่ฮาร์วาร์ด หลาย ๆ คนมองภาพลักษณ์เธอแล้วเกิดอาการเบื่อหน่าย รวมทั้งตัวละครอื่น ๆ ที่สวมใส่ชุดสีชมพูเหมือนกัน มักถูกใช้ให้เป็นสัญลักษณ์ของคนที่ไม่ฉลาด สัญญะเหล่านี้ทำให้คนในสมัยก่อนไม่ค่อยนิยมสีชมพู หรือกังวลในการใช้สีชมพู

          อ้างอิงที่มาจากบทความของ aday เพิ่มเติมว่า ในอดีตชาวตะวันตกยุคกลาง มีความเชื่อเรื่องสีเชื่อมโยงกับเรื่องเพศโดยเชื่อมโยงผ่านธาตุ เปรียบผู้หญิงเป็นธาตุเย็นแทนด้วยสีฟ้า สีน้ำเงิน ส่วนผู้ชายเป็นธาตุร้อนแทนด้วยสีแดง สีชมพู นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องสีกับเพศของมนุษย์ที่เริ่มชัดเจนขึ้นเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสหรัฐอเมริกาได้มีแนวคิดที่จะแบ่งหน้าที่ระหว่างผู้ชายและผู้หญิงอย่างชัดเจน เหมือนคำสอนของประเทศไทยที่ว่าผู้ชายคือช้างเท้าหน้า มีหน้าที่ออกไปทำงานหาเงินเพื่อเลี้ยงครอบครัว ส่วนผู้หญิงนั้นทำหน้าที่เป็นแม่หรือภรรยาที่น่ารัก คอยทำงานบ้าน เลี้ยงลูก และทำอาหารรอสามีกลับบ้าน

          ถึงอย่างนั้นค่านิยมที่บอกว่า ผู้หญิงคือสีชมพูก็เริ่มลดทอนลงในภายหลัง แต่มีประเด็นเรื่องสิทธิสตรีและความหลากหลายทางเพศเกิดขึ้น จนกลายเป็นประเด็นของสังคมในช่วงเวลานั้น ทำให้สีชมพูได้รับการถูกตีความหมายใหม่อีกครั้งในปัจจุบัน ให้เป็นสัญลักษณ์สามเหลี่ยมสีชมพูที่ถูกใช้เพื่อแสดงถึงความเป็นตัวตนและความเป็นมนุษย์ของกลุ่ม LGBTQ+ องค์กรเกย์เยอรมัน Homosexuelle Aktion Westberlin ได้รณรงค์ให้ใส่เสื้อลายชมพูสามเหลี่ยมนี้เพื่อรำลึกถึงชาวเกย์ที่ตกเป็นเหยื่อนาซี และความเกลียดชังคนรักเพศเดียวกัน นิตยสารเกย์ที่ซานฟรานซิสโก Gay Sunshine และที่โตรอนโต The Body Politic ก็สนับสนุนสัญลักษณ์นี้ ทั้งยังมีการใช้สีชมพูต่อสู้เพื่อที่จะไม่ยอมจำนนต่อการถูกกดทับ กีดกัน การถูกเหยียดหยาม และการเลือกปฏิบัติ โดยสัญลักษณ์ที่ว่านี้ได้แรงบันดาลใจมาจากสัญลักษณ์สามเหลี่ยมสีชมพู ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งสามเหลี่ยมนั้นเป็นลักษณะชี้ลง เมื่ออยู่บนชุดนักโทษของนาซีเยอรมนี จะถือเป็นการประจานให้ทุกคนเห็นว่ากลุ่มนักโทษเหล่านี้ถูกจับด้วยข้อหารักเพศเดียวกัน จึงถือว่าพวกเขาทำผิดกฎหมายของนาซีเยอรมันในตอนนั้น ทำให้ยุคนั้นสีชมพูกลายเป็นสีประจำกลุ่มคน LGBTQ+ ไปโดยปริยาย ในยุคต่อมาจึงได้มีการนำเครื่องหมายนี้มาใช้เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ และสร้างแรงผลักดันให้ทุกคนตระหนักถึงความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นกับกลุ่มคน LGBTQ+ เพื่อใช้แทนสัญลักษณ์ในการประท้วงสิทธิ

          ปัจจุบันในยุคที่ผู้คนโหยหากลิ่นอายความย้อนยุคจากสังคม คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากระแสของสีชมพูนั้นกลับมาฮิตในยุค 2020s ที่เข้าไปแทรกซึมอยู่ในทุกวงการผ่านแฟชั่นของผู้คนที่นำเทรนด์ เพราะได้นำเอาการแต่งตัวสุดจี๊ดจากตัวแม่อย่าง Britney Spears, Avril Lavigne, หรือ Paris Hilton ผ่านการแต่งตัวแบบ Y2K รวมไปถึงวัยรุ่น Gen Z ในบางกลุ่มที่ให้ความสนใจกับการแต่งตัวเหมือนบาร์บี้ และเมื่อปรากฎการณ์กระแสบาร์บี้ได้รับความนิยมตั้งแต่ทางผู้จัดปล่อยตัวอย่างภาพยนตร์ เรื่อง Barbie สู่อินเทอร์เน็ต โซเชียลก็ลุกเป็นไฟ เพราะคนส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับคาแรคเตอร์ตัวละครที่ Margot Robbie เข้ามารับบทบาทเป็นนักแสดงนำ มีทั้งมีมตลก รวมถึงเทมเพลตมาให้แฟนคลับได้จำลองการเป็นบาร์บี้ในแบบของตัวเอง น่าตกใจยิ่งกว่านั้นเมื่อสีชมพูของบาร์บี้ กลายเป็นเทรนด์แฟชั่นที่โด่งดังในชั่วข้ามคืน หลังจากเพียงแค่ปล่อยตัวอย่างออกมา

          นอกจากการแต่งตัวด้วยชุดโทนสีชมพูที่เป็นที่โด่งดังในยุค 2000s แล้ว ถึงแม้อาจจะไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมในสมัยนั้นเท่าไหร่นัก เนื่องจากผู้คนยังคงยึดติดว่าสีชมพูเหมาะกับผู้หญิงหรือ LGBTQ+ เท่านั้น จึงทำให้สีชมพูกลายเป็นสีที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ทุกคน โดยเฉพาะผู้ชายไปจนถึง LGBTQ+ บางคนเองก็ไม่กล้าใช้สีชมพูเท่าไหร่ เนื่องจากกลัวการเหยียดและถูกเลือกปฏิบัติ แต่ในยุคสมัยช่วง 2000s หลัง ๆ มานี้ในหลาย ๆ สังคมเริ่มเปิดใจยอมรับ ให้เกียรติกันมากขึ้น ทำให้สีชมพูถูกยอมรับและไม่โดนจำกัดโดยเฉพาะในเรื่องบทบาททางเพศ ยิ่งหลังจากที่ภาพยนตร์เรื่อง Barbie ได้เข้าฉายสู่สายตาสาธารณะชนในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกด้วยตัวละครเอกที่เป็นผู้ชายใส่เสื้อผ้าสีชมพู จากที่สังเกตผู้คนแล้วโดยส่วนมากคนก็ไม่ได้มีอคติกับตัวละครชายนี้ และเห็นได้ชัดว่าปัจจุบันนี้ สีชมพูกลายเป็นสีที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายมากกว่าที่ผ่านมาและทุกคนก็กล้าที่จะเลือกใช้สีชมพูไปพร้อม ๆ กับสีฉูดฉาดสีอื่นมากยิ่งขึ้น

          แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเมื่อก่อนจะมีการเปรียบเทียบหรือแบ่งแยกสีกับเพศอย่างไร ทุกวันนี้คุณค่าของคนไม่ได้ถูกมองโดยสีต่าง ๆ แล้ว และความหมายของสีชมพูที่มันถูกปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่เนื้อในของสีชมพูก็ยังคงหมายถึง การดูแลเอาใจใส่ ความรัก มิตรภาพ ในปัจจุบันนี้สังคมและผู้คนต่างเปิดกว้าง ยอมรับกันและกันมากขึ้น การที่ผู้ชายจะสวมใส่เสื้อผ้า เครื่องประดับ หรือการชื่นชอบสีชมพู นั้นไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเรื่องแปลกหรือมีข้อกังขาใด ๆ ให้แตกต่างจากผู้หญิงเลย เพราะสีไม่ได้มีเพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่สีมีไว้สำหรับศิลปะของทุกคนบนโลกใบนี้ ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของตนว่าจะเลือกสีไหนให้เหมาะสม และเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด

Top