หนังสือพิมพ์เสียงไทบ้าน ปีที่ 15 ฉบับที่ 17 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2565

หนังสือพิมพ์เสียงไทบ้าน ปีที่ 15 ฉบับที่ 17 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2565

ฝากความหวัง
        ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นับเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ ปัญหาดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนในสังคมเป็นอย่างมากและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จากการสังเกตสถานการณ์ในปัจจุบัน ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น เนื่องจากจำนวนยอดผู้ติดเชื้อในแต่ละวันเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ
        แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2564-2565 ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.3 เทียบกับการขยายตัวใน ไตรมาสที่สองของปี 2564 ร้อยละ 7.6 เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามลดลงจากไตรมาสที่สองของปี 2564 ร้อยละ 1.1 รวม 9 เดือนแรกของปี 2564 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 1.3 ซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แม้ในด้านการใช้จ่ายการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐก็ปรับตัวลดลเช่นกัน
        ความเดือดร้อนที่ประชาชนกำลังเผชิญอยู่ ณ ขณะนี้ แม้จะได้รับการฟื้นฟูและได้รับการแก้ไขจากภาครัฐมาบ้างแล้ว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหานั้นจะหมดไปในเร็ววัน ในเมื่อภาครัฐยังเลือกใช้วิธีการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืนอยู่ ดังปัญหาด้านเศรษฐกิจที่เป็นประจักษ์เห็นได้ชัดกว่าปัญหาด้านอื่น ๆ เมื่อเศรษฐกิจย่ำแย่ก็ย่อมส่งผลถึงการใช้ชีวิตที่ต้องเผชิญหน้ากับความลำบากมากขึ้น ปัญหาที่ตามมาก็หนีไม่พ้นเรื่องของรายได้ที่หายไปจากเดิม และปัญหาการตกงาน สืบเนื่องไปจนถึงเรื่องของการศึกษา เรื่องสาธารณูปโภค สิ่งแวดล้อม และการเมือง ซึ่งเรื่องทั้งหมดมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นความอยู่รอดของประชาชน
        การเยียวยาจากรัฐใช่ว่าจะทั่วถึงทุกกลุ่มคนและทุกอาชีพ เนื่องด้วยข้อกฎหมาย และลักษณะอาชีพที่ต่างกัน ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันขึ้น แต่การทำเช่นนั้นก็ไม่อาจเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะกลายมาเป็นข้อบังคับที่จะทำให้คนในสังคมยอมรับได้ เราทุกคนต่างก็ต้องเลี้ยงปากท้องกันทั้งนั้น ความเสมอภาคหรือความเท่าเทียมที่จะได้รับการเยียวยาจากรัฐนับเป็นเรื่องที่ต้องทำ ไม่ใช่ว่าควรจะทำ
        ท้ายที่สุด เรื่องสาธารณสุขเป็นอีกเรื่องที่คนในสังคมเล็งเห็นเช่นกันว่าเป็นปัญหาที่หนักพอๆ กับเรื่องเศรษฐกิจนับตั้งแต่โควิดแพร่เชื้อสู่คนไทย เรามักจะได้ยิน หรือเห็นประโยคที่ว่า การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ โควิคได้คร่าชีวิตของใครหลายๆ คนไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ เรื่องของสุขภาพจึงกลายเป็นเรื่องที่ทุกคนหันมาให้ความสำคัญกันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่กลับกลายเป็นว่าเราต้องเผชิญหน้ากับความไม่พร้อมเมื่อต้องเข้ารับการรักษา ทั้งอุปกรณ์และบุคลากรทางการแพทย์ต่างขาดแคลน
        ในปัจจุปัญหาดังกล่าวที่กล่าวมาแม้จะได้รับความช่วยเหลือและแก้ไขแล้วก็ตาม แต่ทุกปัญหามักจะถูกตั้งคำถามให้เราเสมอว่า เมื่อไหร่มันจะดีขึ้น เมื่อไหร่ที่สังคมเราจะไม่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเหล่านี้อีก อีกกี่ปีที่จะทำให้ปัญหาเก่าหายขาด และทำให้ปัญหาใหม่ๆ มีน้อยลง ปัญหาน้ำเน่าเสีย ปัญหาการจัดการขยะ ปัญหาการจัดสรรงบประมาณ ปัญหาเหล่านี้ยังต้องพบเจอในทุกวันไม่มีวันจบ คงไม่ต้องกลับไปถามว่าใครควรจะจัดการปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ ระบบการจัดการปัญหาที่ดีคือการร่วมมือกันของทุกคนในสังคม เเต่ก็หนีไม่พ้นความจริงที่ว่าทุกคนในสังคมมีอำนาจไม่เท่ากัน นั้นจึงกลายเป็นอุปสรรคที่ไม่สามารถจัดการกับปัญหาในสังคมได้ทุกเรื่องด้วยเช่นกัน
        หนังสือพิมพ์เสียงไทบ้านฉบับที่ 17 จึงขอทำหน้าที่เป็นสื่อในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารไปยังผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รีบเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา และขอใช้พื้นที่ในส่วนนี้เพื่อเป็นปากเป็นเสียงให้กับชาวบ้าน หรือประชาชนที่กำลังเผชิญกับความเดือดร้อนอยู่


Top