[บทสัมภาษณ์พิเศษ] เงินหนักกว่าหิน

[บทสัมภาษณ์พิเศษ] เงินหนักกว่าหิน

มนุษย์ถือกรรมสิทธิ์ว่าตนเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติอย่างถือวิสาสะ จับจ่ายใช้สอยสิ่งเหล่านี้ที่ได้มาฟรีๆ โดยไม่คำนึงว่าวันหนึ่งจะหมดไป และในบางครั้งยังทำการซื้อขายโดยไม่นึกถึงสิ่งแวดล้อมรอบข้าง อย่างชาวบ้านตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู หนึ่งในพื้นที่ที่มีผู้อาศัยอยู่ใกล้เคียงกับเหมืองหินปูนที่ “มนุษย์” ด้วยกันเองยอมขายแหล่งทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์อย่างภูผาฮวกให้กับ “นายทุน” ยอมแลกสิ่งที่ธรรมชาติใช้เวลาในการสร้างหลายร้อยปีเพียงเพราะเงิน
      หากแต่กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ - ผาจันได พวกเขาเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เขาเหล่านี้มองเห็นคุณค่าที่ธรรมชาติมอบให้แก่ “มนุษย์” จึงได้ออกมาเรียกร้องคืนพื้นที่แทนป่า บทสัมภาษณ์พิเศษในหนังสือพิมพ์เสียงไทบ้าน ฉบับที่ 11 จะพาไปทำความรู้จักกับคุณลุงสมควร เรียงโหน่ง ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ - ผาจันไดที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อต่อต้านการทำลายผืนป่าของกลุ่มคนหนึ่ง
      หน้าที่ของการพิทักษ์ป่า
      “หนึ่งในหน้าที่ของลุง คือการดูแลป่า ไม่ว่าจะหน้าแล้งหรือหน้าฝน รวมถึงเรื่องระบบบริหารจัดการป่า ไฟป่า ช่วยดูแลร่วมกับกรมป่าไม้ หากเกิดปัญหาขึ้นกะทันหัน จะเรียกสมาชิกในกลุ่มโครงการราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า รสทป. “ธงพิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต” ไปช่วยดูแล ซึ่งได้รับพระราชทานการจัดตั้งโครงการนี้จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และให้พื้นที่แห่งนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุมชน”
      ปี 2543 ผืนป่าแห่งนี้ได้เปลี่ยนไป การเข้ามาของเหมืองที่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างกรมอุตสาหกรรมฯ และกรมป่าไม้ ที่ได้เซ็นอนุญาตให้ผู้ประกอบการเข้ามาใช้พื้นที่ภูผาฮวกในการสร้างเหมือง และผลที่ตามมาคือการสูญเสียภูเขาเกือบทั้งลูก อันเกิดผลกระทบตามมามากต่อชาวบ้านในชุมชนนี้
      แรงกระทบจากเหมืองหิน
      “เหมืองหินปูนนี้ให้ผลกระทบอย่างใหญ่หลวงกับชาวบ้าน สร้างความเดือดร้อนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ถนนสัญจรร่วมกัน การขนหินในเส้นทางเดียวกับที่ชาวบ้านใช้สัญจรขนผักขนปุ๋ย สูญเสียพื้นที่ทำมาหากิน ฝุ่นจากการระเบิดเหมืองฟุ้งกระจายในอากาศ ทั้งยังลงมาเกาะใบข้าวและพืชพันธุ์ทางการเกษตร มีเสียงระเบิดและเสียงเครื่องจักรดังอยู่ทุกวัน ซึ่งการระเบิดในแต่ละครั้ง ชาวบ้านต้องชุลมุนกุลีกุจอหนีจากสวนไร่ของตนเอง เนื่องจากการที่รัศมีการกระเด็นของเศษหินอาจก่อให้เกิดอันตราย ถึงทางเหมืองจะเคยแจ้งว่ารัศมีเศษหินเศษดินจากการระเบิดนั้นไม่เกิน 200-300 เมตร แต่พวกเราชาวบ้านไม่มีความมั่นใจ จึงต้องหลบออกไปไกลประมาณ 500-600 เมตร เพื่อความปลอดภัยของตนเอง”
      การต่อสู้เพื่อปกป้องธรรมชาติ ที่ในตอนนี้ไม่ได้มีเพียงป่าเขา แต่ยังรวมไปถึงแหล่งโบราณคดีที่ถูกค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ เรียกว่าถ้ำน้ำลอดและถ้ำเมืองบาดาล ติดกันสองถึงสามถ้ำ ยังรวมไปถึงการต่อสู้เพื่อตนเองของชาวบ้าน หลังจากได้รับผลกระทบที่ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นในทุกวัน เพราะหากย้อนกลับไป การสร้างเหมืองแห่งนี้ ชาวบ้านไม่ได้มีความเห็นชอบด้วยตั้งแต่เริ่มต้น
      ต่อสู้เพื่อปกป้องธรรมชาติ
      “ลุงต่อสู้มาตั้งแต่อายุ 37 ปี จนตอนนี้อายุ 64 ปีแล้ว เป็นรุ่นที่สามของการคัดค้านการบุกรุกป่า แต่เดิมเมื่อปี 2536 เคยมีการขออนุญาตการทำเหมืองที่ภูผายา ซึ่งมีประติมากรรมภาพเขียนสีอยู่ ที่ทางกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนให้เป็นแหล่งโบราณคดี ในตอนนั้นชาวบ้านก็ลุกขึ้นมาต่อต้านกันอยู่หลายปี ท้ายที่สุดไม่มีการสร้างเหมืองที่ภูเขาลูกนั้น การทำเหมืองจึงได้ขยับมาที่ภูผาฮวก ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้เป็นแหล่งสำคัญทางธรรมชาติที่จะต้องรักษาไว้ แต่ทางรัฐกลับอนุญาตให้ทางผู้ประกอบการดำเนินการสร้างเหมือง ในฐานะชาวบ้านที่ได้รับธงพิทักษ์ป่า พวกเราชาวบ้านจึงออกมาผลักดันคัดค้านกันอีกครั้งเพื่อให้ยุติการสร้างเหมือง”
      ความท้อที่มาพร้อมแรงใจ
      เมื่อชาวบ้านต้องต่อสู้กับผู้ประกอบการ ซึ่งการต่อต้านการทำเหมืองนับว่าเป็นทางเดินที่เสี่ยงพอๆ กับการเดินบนเส้นด้ายที่หน้าผาสูง ไม่รู้ว่าหนทางนี้จะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน ระหว่างทางต้องเจอลมพัดแรงจนเดินต่อไปแทบไม่ไหว ความท้อแท้สิ้นหวังในการต่อสู้ที่แสนจะยาวนานจึงเกิดขึ้น
      “เคยมีช่วงหนึ่งเริ่มรู้สึกท้อ ทั้งโดนฟ้องคดีแพ่ง โดนเรียกร้องเงินจากแกนนำหลักๆ คนละสองล้าน พร้อมกับดอกเบี้ย รู้สึกว่าท้อจริงๆ เพราะครอบครัวก็เหมือนจะไม่เข้าใจ ต่างพูดกันว่าเมื่อเกิดเรื่องขึ้น ชาวบ้านหลักๆ ที่คัดค้านเขาไม่สามารถช่วยอะไรเราได้ คิดไปถึงทรัพย์สินที่มีอยู่ ต่อให้ขายทั้งหมด ยังไงก็ได้เงินไม่ถึงสองล้าน แต่ในความโชคร้ายกลับมีโชคดี เพราะมีทีมนักกฎหมายอาสาเข้ามาให้ความช่วยเหลือและให้คำแนะนำจึงผ่านเหตุการณ์นั้นมาได้”
ความกลัวที่จะต่อสู้
      “ถ้าถามว่าลุงกลัวไหม ลุงก็กลัว แต่ด้วยความจำเป็นจึงไม่ยอมที่จะหยุดและไม่ยอมที่จะถอยจนถึงทุกวันนี้ ย้อนกลับไปแต่ก่อนลุงต้องระวังตัวเอง อย่างการไปไหนมาไหนจะไม่ไปคนเดียว ต้องอาศัยให้เพื่อนไปด้วย แต่ปัจจุบันระวังไม่ไหวแล้ว เลยปล่อยให้แล้วแต่จะเป็นไปตามเวรตามกรรม อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด เพราะเราสู้มามากแล้ว และอีกอย่างอายุลุงก็เยอะแล้วด้วย”
      ไม่ว่าจะต้องพบเจออะไรในทางข้างหน้า คุณลุงกลับยังยืนหยัดที่จะเดินหน้าสานต่ออุดมการณ์ของตัวเองต่อไป ก้าวแต่ละก้าวที่กำลังเดินนั้น มันกับแฝงไปด้วยพละกำลังแรงใจอยู่ทุกฝีก้าว
      “วันนี้เรายังอยู่จุดนี้ เพราะมีกำลังใจจากผู้ที่พร้อมจะสู้ไปด้วยกันในอุดมการณ์ครั้งนี้ เราเลยฮึดสู้ขึ้นมาได้อีกครั้ง และอีกหนึ่งกำลังใจที่สำคัญ ที่ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจที่ทำให้เรายังสู้ต่อมาได้ถึงทุกวันนี้ คือ ธงพระราชทานที่มอบให้กลุ่มราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่าเพื่อรักษาชีวิต ซึ่งต้องผ่านการฝึกฝนมาอย่างดี นี่เลยเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เรายังอยู่ตรงนี้ เราได้ปฏิญาณตนไว้แล้วว่า ข้าพเจ้าจะดูแลรักษาป่าเท่าชีวิต จะไม่ให้ใครมาทำลาย ปฏิญาณตนข้อนี้จึงถูกยกออกมาเป็นแรงใจ ป่าแห่งนี้ต้องไม่ถูกทำลาย”
      ระยะทางของการต่อสู้ในครั้งนี้แม้จะแสนยาวไกลแค่ไหน ผลสรุปจะเป็นอย่างไร เชื่อว่าอุดมการณ์ที่จะรักษาผืนป่าของกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ - ผาจันไดก็จะยังคงอยู่ และเดินหน้าต่อไปจนกว่าจะถึงเป้าหมายที่วางไว้ให้ได้
      จุดสูงสุดของการพิทักษ์ป่า
      “ลุงคงสู้ไปจนถึงที่สุด จะพยายามผลักดันไม่ให้เขาสามารถต่ออายุประทานบัตรอีกรอบให้ได้ แม้แกนนำหลักๆ อย่างลุง ต้องเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ออกไปเผชิญหน้าก่อนคนอื่นก็ตาม เป้าหมายต่อไปของกลุ่มอนุรักษ์ป่าไม้ ถ้าเป็นไปได้ลุงจะร่างเป็นหนังสือเสนอให้ป่าแห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อให้ภูเขาหินปูนที่ยังไม่ได้ระเบิดนั้นคงอยู่ ถึงในอนาคตตัวลุงไม่ได้อยู่ตรงนั้นแล้ว แต่ลุงจะรักษาไว้ให้ได้เหลือเยอะที่สุด ความหวังในอุดมการณ์ครั้งนี้ ลุงอยากให้มันหยุดอยู่เพียงรุ่นของลุง ไม่อยากให้ลูกหลานต้องมาลำบากต่อสู้แบบเราอีก”
      “และหากครั้งนี้ยังสามารถต่ออายุประธานบัตรการทำเหมืองได้ ทั้งตัวลุงและความคิดของกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ - ผาจันไดได้ลงความเห็นกันว่า จะทำหนังสือในการเอาธงไปคืนโดยจะเดินถือธงจากหนองบัวลำภูไปจนถึงกรุงเทพ เพื่อแสดงให้เห็นว่าธงผืนนี้ที่เคยบอกว่าเป็นสัญลักษณ์ในการรักษาป่า หากกลับได้อนุญาตให้เขาทำร้ายป่าต่อ มันคงไปด้วยกันไม่ได้อีกต่อไป คนหนึ่งทำลาย คนหนึ่งรักษา มันขัดซึ่งกันและกัน”
      สิ่งที่ผู้เขียนได้สังเกตเห็นจากคุณลุงสมควร คือ การที่เราจะต่อสู้กับสิ่งใดสักอย่าง การยึดมั่นถือมั่นในอุดมการณ์และแรงใจของเราเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้เราเดินหน้าต่อไปได้ แม้จะต้องเจอกับอุปสรรค ขวากหนามที่เข้ามาขวางก็ตาม
      เราอาจจะมองว่าธรรมชาติทำร้ายเรา หากแต่สิ่งที่น่ากลัวกว่าธรรมชาติทำลาย คือการที่มนุษย์ทำลายกันเอง
      “ข้าพเจ้าจะดูแลรักษาป่าเท่าชีวิต จะไม่ให้ใครมาทำลาย”

Top