เกษตรกรชาวชัยภูมิเครียด แล้งหนัก-ดินเค็มในรอบหลายปี ด้านพด. เร่งแก้ไขปัญหาทันท่วงที

เกษตรกรชาวชัยภูมิเครียด แล้งหนัก-ดินเค็มในรอบหลายปี ด้านพด. เร่งแก้ไขปัญหาทันท่วงที

อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ หนึ่งในพื้นที่ที่ประสบปัญหาดินเค็มมาอย่างยาวนานและยังคงส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ต้นเหตุหลักเกิดจากชาวบ้านที่ขุดน้ำบาดาลขึ้นมาเพื่อใช้อุปโภคบริโภคลึกเกินกำหนด ทำให้ดินเค็มแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้พื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้านได้รับความเสียหาย
      เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2563 ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ หนึ่งในพื้นที่ที่มี ปัญหาดินเค็มมาอย่างยาวนานและมีการแพร่กระจายอย่างต่อเนื่อง โดยนายธีรพล เปล่งสันเทียะ นักวิชาการเกษตร ชำนาญการ สถานีพัฒนาที่ดินชัยภูมิ กล่าวว่า จังหวัดชัยภูมิ เป็นอีกจังหวัดที่ประสบปัญหาดินเค็มที่ได้รับผลกระทบมาจากปัญหาภัยแล้ง พบพื้นที่การแพร่กระจายดินเค็มทั้งหมด 635,032 ไร่ คิดเป็น 7.90% ของพื้นที่ทั้งหมด เนื่องจากการทำเกษตรที่แพร่หลายทำให้ปัญหาดินเค็มตีวงกว้างมากขึ้น สาเหตุหลักเกิดจากการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้เกินขอบเขตที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลกำหนดไว้ ซึ่งพื้นที่หลักที่ได้รับผลกระทบ คือ อำเภอเมือง คอนสวรรค์ จัตุรัส เนินสง่า และบำเหน็จณรงค์ ต่อมามีการแพร่กระจายจากพื้นที่เหล่านี้เพิ่มเป็น 9 อำเภอ คือ บ้านเป้า ซับใหญ่ หนองบัวระเหว
      นายธีรพล เปล่งสันเทียะ กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาดินเค็มว่ามีอยู่หลายวิธี โดยหลักๆ คือการควบคุมความชื้นของผิวหน้าดิน และการปลูกพืชทนความเค็ม รวมถึงลดการเผาหน้าดิน และการใช้ปุ๋ยเกษตรอินทรีย์ ขณะที่การแก้ไขปัญหาดินเค็มยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากใต้ดินมีเกลืออยู่เป็นจำนวนมาก วิธีการที่ดีที่สุด ทำได้เพียงควบคุมไม่ให้แพร่กระจายเข้าไปในพื้นที่ทางการเกษตร เช่น พื้นที่ในการปลูกข้าว ได้มีการควบคุมเกลือไม่ให้แพร่กระจาย โดยมาตรการส่งเสริมให้เกษตรกรมีการควบคุมปริมาณน้ำในดินให้มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ เพื่อป้องกันเกลือแพร่กระจายไหลไปตามน้ำ หากมีการสูบน้ำบาดาลที่มีความเค็มขึ้นมาใช้ทำการเกษตรจะก่อให้เกิดเกลือแพร่กระจายออกไปยังพื้นที่ใกล้เคียง อีกวิธีที่จะทำให้เกลือไม่แพร่กระจายขึ้นมาบนหน้าดิน คือลดการเผาตอซัง เพื่อป้องกันความร้อนและเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำระเหยออกไปจากหน้าดิน หากปล่อยให้พื้นที่ทางการเกษตรแห้งแล้ง เกลือจะแพร่กระจายและตกค้างอยู่ตามหน้าดิน ในส่วนของกิจกรรมอื่นๆ คือการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยสด เมล็ดพันธุ์อย่างปอเทือง ถั่วพุ่ม ปลูกไม้อะคาเซีย โสน แอฟริกัน ซึ่งเป็นพืชที่ทนความเค็ม ส่วนเมล็ดพันธุ์ที่ทนความเค็มได้ดีที่สุดคือเมล็ดพันธุ์ของโสนแอฟริกัน รวมไปถึงการรณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชดังกล่าวในพื้นที่ดินเค็ม จะช่วยทำให้ดินมีความร่วนซุย สามารถอุ้มน้ำได้ เพื่อป้องกันเกลือไม่ให้ขึ้นมาบนหน้าดิน
      อีกหนึ่งมาตรการการป้องกัน คือการส่งเสริมให้เกษตรกรขุดบ่อน้ำขนาดเล็ก ความลึกประมาณ 2 เมตรครึ่ง เพื่อให้เกษตรกรมีแหล่งน้ำต้นทุนใช้ในแปลงการเกษตรของตนเอง ลดการเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ แต่เนื่องจากปัจจุบันทางจังหวัดประสบปัญหาแล้งหนัก แหล่งน้ำบาดาลมีไม่เพียงพอ จึงได้เตรียมรับมือโดยการกักเก็บน้ำจากแม่น้ำชี ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของจังหวัดชัยภูมิ โดยการเก็บน้ำสำรองไว้ในบ่อน้ำขนาดเล็กของกรมพัฒนาที่ดิน เป็นบ่อแก้มลิงช่วยให้เกษตรกรมีแหล่งน้ำสำรองเพิ่มขึ้น
      นายธีรพล เปล่งสันเทียะ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในอนาคต พื้นที่ของจังหวัดชัยภูมิ จะเริ่มดำเนินการเพื่อจัดทำโครงการขนาดใหญ่สำหรับควบคุมการแพร่กระจายของกลือ ซึ่งในขณะนี้ยังทำได้เพียงแค่ส่งเสริมปรับมวลดินเท่านั้น
      นายวัชรินทร์ ปรางชัยภูมิ เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญงาน สถานีพัฒนาที่ดินชัยภูมิ ผู้ดูแลในพื้นที่ อำเภอคอนสวรรค์ กล่าวถึงปัญหาพื้นที่ดินเค็มในจังหวัดชัยภูมิ ว่าเป็นปัญหาที่ประสบมาตลอดทุกปี ซึ่งสาเหตุของปัญหาในภาคอีสานเกิดจากดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ส่วนอีกสาเหตุเกิดจากวัตถุต้นกำเนิดดิน มีการแบ่งชุดดินออกเป็นกลุ่มๆ ซึ่งชุดดินของจังหวัดชัยภูมิเป็นชุดดินของมหาสารคามที่มีความเค็มเป็นทุนเดิม ทำให้เป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก
      นายวัชรินทร์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับวิธีการสังเกตพื้นที่ดินเค็ม สามารถสังเกตได้จากต้นหนามพุงโล หนามขี้แฮด หนามแดง ต้นสแก ต้นสะเดา มะขาม ยูคาลิปตัส เพราะพืชเหล่านี้สามารถทนความเค็มได้ดี นอกจากนี้ยังได้แนะนำพืชที่เหมาะกับเดินเค็ม เช่น ดินเค็มในบริเวณที่เป็นดินทราย ได้แนะนำให้ปลูกต้นมะพร้าวน้ำหอม จะได้รสชาติดี หากดินเค็มในบริเวณที่เป็นดินร่วนแนะนำให้ปลูกข้าวหอมมะลิจะช่วยเพิ่มความหอมหวาน ในส่วนของข้อห้ามได้เตือนว่า หากพบดินเค็ม ห้ามขุดน้ำบาดาลในบริเวณนั้นขึ้นมาใช้และห้ามเผาตอซัง เพราะจะส่งผลให้เกิดความด่างจากการเผาไหม้บนหน้าดิน หากความด่างเจอกับความด่างจะเกิดความเค็มมากขึ้น ทั้งนี้ได้แนะให้ปลูกต้นไม้ทนเค็ม ส่วนของการแก้ปัญหาดินเค็ม เบื้องต้นสามารถใช้วิธีแกล้งดิน คือ การนำเอาแกลบดิบไปปั่นและใส่ลงไปในดิน วิธีนี้จะทำให้ดินร่วนและระบายน้ำได้ดีมากยิ่งขึ้น
      นายแสวง สุสมบูรณ์ เกษตรกรในพื้นที่ตำบลบ้านโสก อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ หนึ่งในพื้นที่ ประสบปัญหาดินเค็ม กล่าวว่า ตอนนี้ทุกที่ประสบปัญหาภัยแล้ง สิ่งที่ชาวบ้านพอจะทำได้เพื่อรับมือเบื้องต้นคือ หาวิธีการที่จะทำให้มีการใช้น้ำในปริมาณที่น้อยลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากสำหรับการทำการเกษตร เพราะดินไม่สามารถขาดน้ำได้ ในพื้นที่แล้งจัดจนเกิดดินเค็มมีการแก้ปัญหาด้วยการปลูกข้าวที่ชอบความเค็ม อย่างเช่น ทุ่งกุลาร้องไห้ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ได้ปลูกข้าวหอมมะลิ เป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ซึ่งในปัจจุบันมีดินเค็มเป็นบางส่วน ชาวบ้านต้องปรับสภาพดินเค็มด้วยตนเอง โดยวิธีการเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดิน ทำให้ดินอุ้มน้ำ ที่ผ่านมามีการรณรงค์ให้ใช้ปุ๋ยมูลสัตว์และการปรับหน้าดินให้เค็มน้อยลง โดยใช้ขี้ควาย ฟิบตี้เชค 1 ซอง สำหรับกำจัดวัชพืช สามารถช่วยลดงบประมาณได้ดี นอกจากนี้ยังมีการปลูกสโนอเมริกันเพื่อควบคุมความชื้นของผิวหน้าดิน แต่เมื่อกลับไปทำนา นากลับเต็มไปด้วยวัชพืชซึ่งยังคงเป็นปัญหาอยู่
      ในส่วนขององค์กรที่เข้ามาช่วยเหลือ นายแสวง สุสมบูรณ์กล่าวว่า มีกรมส่งเสริมการเกษตรเข้ามาช่วยเรื่องการเพาะและกระจายพันธุ์พืช กรมพัฒนาที่ดินและกรมพลังงานเข้ามาให้ความรู้ แนะนำวิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่มีผลมาจากดินเค็ม ปัจจุบันมีการทำนาแปลงใหญ่ มีศูนย์ข้าวชุมแพรเข้ามาให้คำแนะนำทุกปี อาทิเช่นการทำเกษตรอินทรีย์แบบยั่งยืน และการสร้างบ่อน้ำขนาดเล็กที่มีการดำเนินงานไปบ้างแล้ว ซึ่งพื้นที่นาของ 1 คน จัดสามารถสร้างบ่อน้ำได้ 1 บ่อ

Top