กรมโยธาฯ นครพนมเผย เตรียมยื่นแผนแนวทางแก้ไขต่อคณะกรรมการ หวังปรับปรุงผังเมืองให้ดีขึ้น

กรมโยธาฯ นครพนมเผย เตรียมยื่นแผนแนวทางแก้ไขต่อคณะกรรมการ หวังปรับปรุงผังเมืองให้ดีขึ้น

กรมโยธาฯ ยื่นผังเมืองใหม่ พร้อมแนวทางแก้ไขผังเมืองเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษให้กับคณะกรรมการหวังปรับปรุงผังเมืองให้ดีขึ้น หลังมีชาวบ้านคัดค้านผังเมืองดังกล่าวเพราะไม่สอดคล้องกับหลักความเป็นจริง และมีข้อจำกัดเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านในเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนมวิจารณ์การประชาสัมพันธ์กรมโยธาฯ จังหวัดไม่ทั่วถึงพอ ด้านนักวิเคราะห์ผังเมืองชำนาญการพิเศษ จังหวัดนครพนม เผยข่าวชาวบ้านประท้วงเกิดจากการประชาสัมพันธ์ที่ไม่มากพอและการสื่อสารที่ผิดพลาด ขณะนี้ได้เสนอร่างแนวทางการการปรับปรุงผังเมือง ขอให้ชาวบ้านมายื่นคำร้องเพื่อให้กรรมการพิจารณา
      เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ได้มีการเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการฐานเศรษฐกิจพิเศษร่วมกับภาคประชาชนและองค์กรเอกชน เป็นครั้งที่ 2 ณ โรงแรมฟอร์จูน วิวโขง เขตเทศบาลเมืองนครพนม ซึ่งมีประชาชนไม่เห็นด้วย และได้รวมตัวกันคัดค้านการจัดผังเมืองฉบับนี้ เพื่อล้มมติการประชุม ทางด้านกรมโยธาธิการและผังเมืองจึงได้มีการจัดประชุมขึ้นอีกครั้ง โดยในครั้งนี้ให้ประชาชนเข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) เพื่อรับฟังข้อคิดเห็น (รายตำบล) ครอบคลุมพื้นที่เขตพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษนครพนม 13 ตำบล ได้แก่ตำบลหนองญาติ ตำบลท่าค้อ ตำบลอาจสามารถ ตำบลนาราชควาย ตำบลนาทราย ตำบลโพธิ์ตาก ตำบลกุรุคุ ตำบลเวินพระบาท ตำบลโนนตาล ตำบลบ้านผึ้ง ตำบลรามราช ตำบลบ้านแพง และตำบลเมืองนครพนม ระหว่างวันที่ 15 ถึง 24 มกราคม 2563
      นายจีระ เจริญทรัพย์ นักวิเคราะห์ผังเมืองชำนาญการพิเศษ จังหวัดนครพนม เผยว่า โครงการฐานเศรษฐกิจพิเศษนั้น ดำเนินโครงการร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมืองส่วนกลาง โดยกรมโยธาฯ ส่วนกลางเป็นผู้ออกแบบผังเมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในส่วนของกรมโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครพนมได้ว่าจ้างที่ปรึกษาพิเศษและสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เนื่องจากเป็นสิ่งที่จะต้องทำในกระบวนการดังกล่าว
      นโยบายเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษเป็นนโยบายของรัฐบาล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและมีการกำหนดเขตพื้นที่ไว้สิบจังหวัด ภาคเหนือเป็นจังหวัดเชียงราย ภาคตะวันตกเป็นจังหวัดตราด และภาคใต้เป็นจังหวัดยะลา ส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตั้งแต่จังหวัดหนองคายถึงจังหวัดนครพนมและจังหวัดมุกดาหาร รัฐบาลต้องการผลักดันเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรม ซึ่งศักยภาพจริงของพื้นที่จังหวัดนครพนมเป็นพื้นที่เล็กเมื่อเทียบกับจังหวัดอุดรธานีหรือจังหวัดขอนแก่น เมื่อกรมโยธาฯ วางรูปแบบผังจะต้องอิงจากศักยภาพของเมือง ซึ่งไม่ได้มองตามนโยบายของรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้นแบบแปลนผังเมืองที่ถูกร่างออกมาจึงมีข้อจำกัดจำนวนมาก
      นายจีระ ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า เพราะพื้นที่ดังกล่าวมีความหลากหลายในด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ดังนั้นข้อกำหนดพื้นที่สีเขียวที่ออกมาครั้งนี้จึงมีข้อจำกัดอยู่มาก เช่น การจำกัดของพื้นที่ การกำหนดขนาดและความสูงของอาคาร ซึ่งกรมโยธาฯ ได้ตรวจสอบแล้วว่ามีข้อจำกัดอยู่เป็นจำนวนมากอย่างที่ประชาชนมีการคัดค้าน โดยมีปัญหาคือการใช้พื้นที่กิจกรรมหลักคือการทำการเกษตร ไม่เกินร้อยละ 10 และกิจกรรมรองคือการสร้างอาคารสำหรับอยู่อาศัยและอาคารพาณิชยกรรม ไม่เกิน ร้อยละ 5 ซึ่งประชาชนเข้าใจว่า สามารถทำกิจกรรมหลักและกิจกรรมรองได้เพียง ร้อยละ 10 และร้อยละ 5 ในเขตที่ดินของตนเอง แต่ตามแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ร้อยละ 10 และร้อยละ 5 ดังกล่าวหมายถึงพื้นที่ทั้งหมดภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษพื้นที่สีเขียว ซึ่งเป็นพื้นที่ประมาณหลายหมื่นไร่ ขณะที่เกณฑ์มาตรฐานของกรมโยธาฯ วัดด้วยหลักวิชาการ โดยคำนวณจากค่าเฉลี่ยพื้นที่ FAR (อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน) ว่าพื้นที่นี้เฉลี่ยแล้วมีการใช้ประโยชน์อาคารต่อพื้นที่ไม่เกินปริมาณเท่าใด ซึ่งจะต้องมีข้อมูลต่างๆ สนับสนุนการวัดเสมอจึงสามารถที่จะกำหนดได้
      ซึ่งกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย คือกลุ่มนายทุนที่มีความต้องการทำกิจกรรมรอง (สร้างอาคารสำหรับอยู่อาศัยและอาคารพาณิชยกรรม) ไม่ใช่กิจกรรมหลัก โดยกิจกรรมรองจะได้รับพื้นที่น้อยกว่ากิจกรรมหลัก เช่น บางพื้นที่กลุ่มนายทุนต้องการที่จะสร้างโรงแรมในพื้นที่สีเขียว ซึ่งโรงแรมดังกล่าวจะถูกกำหนดเป็นกิจกรรมรอง เกรงว่าหากสร้างโรงแรมแล้วพื้นที่สำหรับก่อสร้างจะไม่เพียงพอ จึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่กลุ่มนายทุนไม่เห็นด้วย ในส่วนของกรมโยธาฯ คาดว่ากลุ่มชาวบ้านจะไม่ได้รับผลกระทบ แต่ด้วยการสื่อสารที่ผิดพลาดและความเข้าใจผิดของกลุ่มบุคคลที่มีความตื่นตระหนกในเรื่องของผังเมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษ ด้วยเหตุผลว่าจะเสียผลประโยชน์จากข้อจำกัดต่างๆ จึงได้ออกมาร่วมต่อต้านผังเมืองเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว
      เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้น กรมโยธาฯ จึงรับฟังและสำรวจความคิดเห็นของคนทุกกลุ่ม ดังนั้นจึงมีการปรับปรุงผังเมืองใหม่ขึ้น ซึ่งในขณะนี้เป็นเพียงแนวทางแก้ไขที่ยังไม่ผ่านกระบวนการในขั้นคณะกรรมการ แต่จะผ่านกรรมการหรือไม่ กรมโยธาฯ ไม่สามารถระบุได้ โดยสิ่งที่ต้องการปรับคือ ตัดข้อจำกัดด้านพื้นที่เพื่อไม่ให้มีปัญหาในการทำกิจกรรมหลักและกิจกรรมรอง ซึ่งเดิมทีเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษที่วางไว้มีทั้งหมด 16 ตำบล ภายหลังมีการตัดตำบลออกเหลือเพียง 13 ตำบลเท่านั้น เนื่องจากข้อจำกัดที่รองรับด้านเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ได้มีการขยายเขตพื้นที่สีแดงคือที่ดินประเภทพาณิชยกรรม สีส้มคือที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยที่มีความหนาแน่นปานกลาง และสีเหลืองคือที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย มีการขยายออกไปในพื้นที่โดยรอบที่มีศักยภาพมากกว่าเดิม ในเรื่องของข้อห้าม เช่น เรื่องที่เป็นประเด็นขนาดและความสูงของอาคาร ที่ต้องพิจารณาปรับแก้ ประเภทโรงแรมจากเดิมที่ถูกจำกัดในด้านต่างๆ ได้มีการยกเลิก โดยสามารถสร้างโรงแรมได้ ไม่มีการแยกประเภท
      นายจีระ เผยอีกว่า เดิมผังเมืองเริ่มมีการดำเนินงานจากการประชุมกลุ่มย่อยในช่วงปี 2559 และได้มีการทิ้งช่วงในปี 2560 และ 2561 เป็นระยะเวลาถึง 3 ปี จากนั้นได้มีการประชุมร่วมกันอีกครั้งในปี 2562 โดยที่ไม่มีการพูดคุยกับกลุ่มชาวบ้านกลุ่มเดิมในช่วงปี 2559 เนื่องจากกรมโยธาฯ ไม่ได้มีการเตรียมพร้อม และกลุ่มชาวบ้านมองภาพของแผนผังไม่ออก จึงไม่เห็นด้วยกับนโยบายที่ภาครัฐจะมาลงทุนส่งเสริมโครงสร้างต่างๆ รวมถึงรายได้ที่จะได้รับจากพื้นที่ดังกล่าว เมื่อมาร่วมประชุมกันอีกครั้งจึงเกิดปัญหาขึ้นจากการสื่อสารที่ไม่ลงตัว
      ส่วนหนึ่งมาจากพรบ.60 และพรบ.62 ในเรื่องของการถูกตัดสิทธิ์คำร้อง หากไม่ยื่นสงวนสิทธิ์ในวันประชุม ประชาชนจะถูกตัดสิทธิ์ในการยื่นคำร้อง โดยนายจีระได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การออกกฎหมายแบบนี้เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ในความเป็นจริงนั้นเป็นไปได้ยากที่ประชาชนจะเข้าร่วมประชุมครบทุกคน ผลที่ตามมาคือประชาชนที่ไม่ได้เข้าร่วมตีความไปว่า กรมโยธาฯ มีการประชาสัมพันธ์ที่เข้าไม่ถึงประชาชนอย่างทั่วถึง
      นายจีระ ได้ให้ข้อมูลว่าหลังจากมีการประชุมเมื่อวันที่ 24 - 25 มกราคม 2563 ที่ผ่านมาทางด้านของกรมโยธาฯ เตรียมเสนอการยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการผังเมือง หากคณะกรรมการผังเมืองเห็นด้วยจึงจะมีการออกกฎหมายปิดประกาศ 90 วัน เพื่อให้ยื่นคำร้อง หากมีการยื่นคำร้องต้องพิจารณาว่าผู้ยื่นได้สงวนสิทธิ์ไว้หรือไม่ หากไม่ได้สงวนสิทธิ์ กรมโยธาฯ ขอให้ยื่นไปก่อน เพราะคณะกรรมการจะดูเงื่อนไข แต่ต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะ
      จากการสัมภาษณ์กรมโยธาธิการและผังเมืองที่ออกมายอมรับว่า การประชาสัมพันธ์นั้นเป็นจุดอ่อน มีการประชาสัมพันธ์ที่ไม่ครอบคลุมและไม่ทั่วถึง ผู้สื่อข่าวจึงได้มีการลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์ชาวบ้านเพิ่มเติม โดยชาวบ้านกล่าวว่า ไม่รู้เรื่องข่าวเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ และไม่ได้ไปประท้วงกับกลุ่มแกนนำ อีกทั้งยังไม่ได้ไปร่วมประชุมเนื่องจากติดธุระ และไม่ทราบเรื่องที่จะมีการสงวนสิทธิ์หากไม่ไปเข้าร่วมประชุม จึงอยากให้กรมโยธาฯ จังหวัดนครพนมมีการประชาสัมพันธ์ที่ทั่วถึงกว่านี้
      ด้านของ ผศ.ดร.จิระเดช มาจันแดง อาจารย์และหัวหน้าภาคภูมิศาสตร์ พัฒนาเพื่อการจัดการทรัพยากร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นภายในแผนพัฒนาเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครพนมว่า การสำรวจพื้นที่ไม่ได้เป็นไปตามกระบวนการ กำหนดการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งกำหนดทำบริเวณชายแดนของจังหวัด โดยทางรัฐคาดหวังไว้ว่าจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นและทำให้การแลกเปลี่ยนกับประเทศเพื่อนบ้านสะดวกมากขึ้น แต่เพราะนโยบายที่รีบเร่งเร่งรัด ซึ่งทำให้ไม่สอดคล้องกับกลุ่มชาวบ้านที่อาศัยอยู่ ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือเมื่อพื้นที่อุตสาหกรรมเยอะมากขึ้นจากการที่นักลงทุนกลุ่มใหม่มาลงทุน ทำให้สิ่งแวดล้อมมีมลพิษ รูปแบบวิถีชีวิตเดิมของชาวบ้านหรือความเป็นเอกลักษณ์ของนครพนมต้องปรับเปลี่ยนตามแบบแผนเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษหรืออาจจะสูญหายไปในบางส่วน เมื่อเอกลักษณ์วัฒนธรรมถูกปรับเปลี่ยนตามแบบแผนเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ทำให้มีผลกระทบกับการท่องเที่ยวในระยะยาว
      ผศ.ดร.จิระเดช ได้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นว่า นครพนมมีกลุ่มชาวบ้านซึ่งมีอาชีพหลักคือเกษตรกร และการนำอุตสาหกรรมเข้ามาจึงหมายถึงการสร้างโรงงานแปรรูปผลผลิตเกษตรกรรม ซึ่งทำให้พื้นที่ของเกษตรกรบางส่วนไม่สามารถทำเกษตรได้เพราะข้อกำหนดภายในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ชาวบ้านเกษตรกรต้องทำอาชีพแรงงานในโรงงานแปรรูปผลผลิตเกษตรกรรมแทนในบางส่วน นอกจากนี้วิถีชีวิตของชาวบ้านจะเปลี่ยนแปลงเมื่อมีอุตสาหกรรมเข้ามามากขึ้น สิ่งแวดล้อมจะมีมลพิษมากขึ้น ทำให้นครพนมไม่สามารถทำแผนอุตสาหกรรมของเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษได้ระยะยาว เพราะไม่มีการเตรียมพร้อมที่จะจัดรูปแบบในการปรับเปลี่ยนตัวเมืองก่อน และด้วยกลุ่มชาวบ้านส่วนใหญ่ในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษนั้นมีอาชีพเกษตรกร ทำให้แผนอุตสาหกรรมภายในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้
      ผศ.ดร.จิระเดช ได้เผยถึงการแก้ปัญหาในส่วนนี้ว่า ควรสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่อาศัยในแต่ละชุมชนที่อยู่ภายในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นรวมถึงการสำรวจสภาพแวดล้อมบริเวณโดยรอบว่ามีความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมอย่างไรบ้าง ก่อนจะเริ่มแผนผังเมืองเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ
      ในส่วนของเรื่อง FAR ผศ.ดร.จิระเดช ได้อธิบายเพิ่มเติมว่าหมายถึงอัตราส่วนของอาคารรวมต่อพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องของสิ่งปลูกสร้างในขั้นต่างๆ มีความครอบคลุมกับพื้นที่มากน้อยขนาดไหน ยิ่งตึกสูงมากขึ้นจำนวนอาคารเรือนมากขึ้น การนับอัตราส่วนต่อพื้นที่โดยรวมจะน้อยลง ทำให้ประชากรที่อยู่อาศัยรู้สึกแออัด ซึ่งต้องดูความเหมาะสมของจำนวนประชากรและพื้นที่ให้ดีในเรื่องนี้) ในเรื่องของ OSR คือ อัตราส่วนพื้นที่โดยรวมต่อพื้นที่ว่างเปล่า การสร้างสิ่งปลูกสร้างหนึ่งแล้วมองดูว่าครอบคลุมสัมพันธ์กับพื้นที่โดยรอบมากน้อยอย่างไรบ้าง

Top