พิมายพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส เลี้ยงโค ปลูกมันแทนข้าวแก้ภัยแล้ง

พิมายพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส เลี้ยงโค ปลูกมันแทนข้าวแก้ภัยแล้ง

อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ประสบภัยแล้งหนักจากการปิดประตูเขื่อน ส่งผลให้ข้าวแห้งตาย ชาวบ้านแก้ปัญหาปลูกมันแทนข้าว เลี้ยงโคนมสู้ภัยแล้ง รวมถึงโครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาบรรเทาภัย
      จากสถานการณ์ภัยแล้งในจังหวัดนครราชสีมา ทางเจ้าหน้าที่จัดสรรน้ำในโครงการศูนย์ส่งน้ำและบำรุงรักษาทุ่งสัมฤทธิ์ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ได้มีการปิดประตูเขื่อนพิมายทางด้านปากคลองสายใหญ่จำนวน 6 บาน และปิดประตูทางด้านทิศใต้อีก 2 บาน เนื่องจากปริมาณน้ำเหลือเพียง 30%
      เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563 ทีมนักข่าวเสียงไทบ้านลงพื้นที่ไปยังบ้านจำนงค์พัฒนา หมู่ 22 ต.นิคม อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ที่ประสบภัยแล้งในช่วงปลายปี 2562 ถึงปัจจุบัน โดยไปที่ไร่ของนางอำนวย คลองโนนสูง ที่มีพื้นที่ปลูกมันทั้งหมด 5 ไร่ สลับกับปลูกอ้อย 7 ไร่ สภาพพื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้ง (ดังรูป) ทำให้มีการสูบน้ำจากบ่อน้ำมาใช้ในการเกษตร ทั้งนี้บางพื้นที่ยังมีการขุดเจาะน้ำบาดาล โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทำให้บรรเทาภัยแล้งได้ในระดับหนึ่ง
      นางอำนวย คลองโนนสูง เผยว่า ใช้ระยะเวลาในการปลูกมันประมาณ 10 เดือน และได้ส่งขายให้กับโรงงาน จากเดิมโรงงานให้ราคา 2.30 บาทต่อกิโลกรัม ลดลงเหลือ 2.10 บาทต่อกิโลกรัม แต่ก็ยังขายได้กำไรงามจากเทคนิคการลดต้นทุน เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตจากไร่มันแล้ว จะนำอ้อยมาปลูกต่อ เพราะไม่สามารถปลูกพืชทางการเกษตรที่ไม่ทนแล้งได้ เนื่องจากบ่อกักเก็บน้ำส่วนใหญ่ไม่มีน้ำเหลือ พืชเกษตรก็อาจจะตายจากพิษภัยแล้งไปบ้างบางส่วน ในการปลูกให้ได้ผลผลิตจะใช้เทคนิคให้มีบ่อน้ำหลายบ่อรอบๆ บริเวณพื้นที่ทำการเกษตรเพื่อป้องกันความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นในระยะนี้ แต่ก็มีการรับมือโดยการเลี้ยงโคนมควบคู่ไปด้วย จึงสามารถมีรายได้แทนการปลูกข้าวในช่วงภัยแล้ง ทั้งนี้ในส่วนของต้นทุนนั้นใช้จำนวนไม่มาก เนื่องจากในไร่ มีการหมุนเวียนตั้งแต่การปลูกข้าว การเก็บเกี่ยว และมีการเก็บฟางข้าวไว้ ส่วนในช่วงภัยแล้งที่ไม่สามารถปลูกข้าวได้ ก็จะนำฟางที่ได้เก็บไว้มาเลี้ยงโคนม และนำมูลของโคนมไปใช้เป็นปุ๋ยให้กับไร่มัน
      ในส่วนของการเลี้ยงโคนมที่ให้ผลผลิตเป็นน้ำนม สามารถสร้างรายได้ทดแทนการเกษตรที่ยังประสบปัญหาภัยแล้งในช่วงนี้ให้กับคุณอำนวยและชาวบ้านในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากต้นทุนการเลี้ยงต่ำ ให้อาหารจากฟางหญ้าสลับกับอาหารเม็ดที่ให้ก่อนทำการรีดนมวัว โดยคุณอำนวยมีวัวที่เลี้ยงมากกว่า 20 ตัว สามารถรีดนมได้ทุกวันและมีรถของหน่วยงานสหกรณ์ของหมู่บ้านมารับนมวัวเพื่อไปส่งขายต่อให้กับบริษัทนม โดยคิดราคาเริ่มต้นคือ 17.20 บาทต่อกิโลกรัม หากนมคุณภาพดีก็จะได้ราคาที่สูงขึ้น
      นอกจากนี้นางอำนวยยังได้พาทีมข่าวเสียงไทบ้านไปดูพื้นที่ไร่มันละแวกใกล้เคียงที่ร่วม“โครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร” ที่ใช้เครื่องมือด้านพลังงานสูบน้ำบาดาลช่วยเหลือบรรเทาวิกฤตภัยแล้งแก่ชาวบ้านและชุมชนทั้งในจังหวัดภาคเหนือและอีสาน โดยใช้เทคนิคในการปลูกด้วยแผงโซลาเซลล์ต่อกับเครื่องสูบน้ำจากบาดาลทำให้เกิดน้ำไหลตลอดเวลา ส่งผลให้พืชผลสามารถเจริญเติบโตได้แม้จะเกิดภัยแล้งหนัก ทั้งนี้สำนักงานกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานผู้ดำเนินโครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตรมาตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน ณ วันที่ 26 กรกฎาคม 2562 ได้ทำการอนุมัติโครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตรให้กับ 160 หน่วยงานไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 1,450 โครงการทั่วประเทศ

Top