ชาวบ้านหวั่น PM 2.5 เผาไร่อ้อย คนปลูกวอนอย่าโทษ

ชาวบ้านหวั่น PM 2.5 เผาไร่อ้อย คนปลูกวอนอย่าโทษ

ชาวบ้านหวั่น PM 2.5 เผาไร่อ้อย คนปลูกวอนอย่าโทษ 

 

เลขาฯสมาคมชาวไร่อ้อย จังหวัดมหาสารคาม เผย การตัดอ้อยสดต้นทุนสูงกว่าอ้อยเผา เนื่องจากสภาพพื้นที่ขาดการดูแล ยากต่อการเก็บเกี่ยว พร้อมให้ความเห็นว่า การเผาอ้อยไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหา P.M 2.5 เจ้าของไร่อ้อยชี้แจงว่า การเผาอ้อยไม่มีผลกระทบอะไรมาก อีกทั้งขณะนี้ไม่มีการร้องเรียน ด้านชาวบ้านกังวลเรื่องฝุ่นที่เกิดจากขี้เถ้าอ้อยจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

 

เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา นายศราวุธ ภูนาศรี เลขาสมาคมชาวไร่อ้อย จ.มหาสารคาม กล่าวถึง สาเหตุการเผาอ้อยของเกษตรกรว่า การตัดอ้อยแบบสดมีต้นทุนสูง ตัดลำบากและใช้เวลานาน เนื่องจากสภาพพื้นที่ขาดการดูแล หญ้าขึ้นรกเข้าไปตัดได้ยาก ทำให้แรงงานขาดแคลน อีกทั้งค่าแรงไม่คุ้มค่า  คนส่วนใหญ่จึงนิยมตัดอ้อยไฟมากกว่า เพราะง่ายต่อการตัด ทำได้เร็วและตัดได้จำนวนมาก ซึ่งบางครั้งการเผาไร่อ้อย ไม่ได้เกิดจากชาวไร่ แต่เกิดจากคนอื่นไปเผาฟรี เพราะต้องการเร่งให้เกษตรกรตัดอ้อยเข้าโรงงาน หลังจากเผาเสร็จต้องรีบตัดทันที เพราะอ้อยจะแห้ง ความหวานจะน้อย มีกลิ่นเน่าและคุณภาพลดลง

นายศราวุธ  ยอมรับว่า การเผาอ้อยส่งผลต่อโรคระบบทางเดินหายใจ ฝุ่นละอองที่เกิดจากการเผาไหม้หากสูดดมเข้าไป ร่างกายได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ปัจจุบันในจังหวัดมหาสารคามไม่มีเกษตรเผาอ้อยแล้ว เนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดได้ตรวจตราอย่างเคร่งครัด ทำให้ตอนนี้การเผาอ้อยมีไม่มากนัก อีกทั้งปัญหาฝุ่น P.M. 2.5 ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการเผาอ้อยเป็นหลัก แต่มาจากฝุ่นและมลพิษทางอากาศจากที่อื่นด้วย เช่น ไฟป่า การเผาตอซังข้าวหรือการเผาไร่แปลงใหญ่ ๆ

นอกจากนี้ด้านนายศราวุธ ยังได้อธิบายเพิ่มเติมว่า การเผาอ้อยอาจจะดีในระยะแรกเท่านั้น แต่ระยะยาวจะส่งผลเสียหลายปัจจัย เช่น ทำให้ดินเสียและต้องลงทุนในการปลูกใหม่ แต่เกษตรกรไม่คิดแบบนั้น ถ้าอ้อยราคาตกเกษตรกรก็จะหันไปปลูกมัน ถ้ามันราคาตกก็จะหันไปปลูกข้าว ซึ่งปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ทำให้การทำการเกษตรไม่ยั่งยืนเท่าที่ควร ทางสมาคมจึงมีแนวทางจัดการกับการเผาอ้อย คือ การหาเครื่องจักรมาช่วย เป็นเครื่องสางใบ เครื่องขนาดไม่ใหญ่มาก ใช้เป็นเครื่องตีใบอ้อย ให้ใบอ้อยขาดเหลือแต่ลำต้น สามารถติดไว้ข้างหลังรถไถเล็กเข้าไปตามร่องดินได้ เสร็จแล้วก็ใช้คนงานตัด ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นต้องหาเครื่องสางใบอ้อยให้มากที่สุด เพื่อลดจำนวนการเผา ราคาประมาณ 50,000 บาทต่อเครื่อง หลัก ๆ เป็นการนำเครื่องจักรเข้ามาช่วย จะทำให้สะดวกกว่าในทุก ๆ ด้าน ตนจึงเตรียมหารือในที่ประชุม

ด้านเจ้าของไร่อ้อยรายหนึ่ง กล่าวว่า ไม่เคยเผาไร่อ้อย เพราะเน้นตัดสดมากกว่า เนื่องจากเป็นไร่อ้อยแปลงเล็ก อีกทั้งเคยทดลองปลูกมันและอ้อยพร้อมกัน แล้วมีการเผาอ้อยก่อนตัด ผลลัพธ์ คือ เกิดมลพิษควันขี้เถ้า ทำให้คุณภาพของดินเริ่มไม่ดี ปลูกพืชชนิดอื่นในแปลงที่เผาอ้อยก็ขึ้นยาก ดังนั้นจึงเริ่มหันมาตัดอ้อยสด และคิดว่าหากเผาอ้อยไม่ว่าจะใกล้หรือไกล ถ้าบ้านอยู่ในทิศทางที่ลมผ่านก็ทำให้ฝุ่นละอองปลิวเข้าบ้านได้ แล้วเกิดความเดือนร้อนตามมา เพราะเป็นเขตชุมชน

ด้านเจ้าของไร่อ้อยอีกราย ให้สัมภาษณ์ว่า การเผาไร่อ้อยในปัจจุบัน แม้จะยังมีการเผาอยู่ แต่ถึงอย่างนั้นก็ลดการเผาลงไปกว่าเดิมมากแล้ว การเผาอ้อยนั้นมีทั้งการตัดก่อนเผาและเผาหลังจากที่ตัดเสร็จ ส่วนมากจะเผาในช่วงเย็น เพราะอากาศจะนิ่งไม่มีลม ก่อนการเผาอ้อยจะมีการถางพื้นที่โดยรอบเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ไฟลามออกนอกพื้นที่ของตน จึงไม่มีผลกระทบในเรื่องไฟลุกลามไปพื้นที่ของคนอื่นสักเท่าไหร่ เศษฝุ่นจากการเผาอ้อยจะตกแค่ในพื้นที่ของตัวเอง มีที่ตกในพื้นที่บ้านของคนอื่นบ้าง หากจะกล่าวถึงผลกระทบก็มีน้อย เพราะไม่มีคนออกมาเรียกร้อง ในส่วนของฝุ่น P.M. 2.5 นั้น ตนไม่มีความเห็น

ทางด้านผู้รับจ้างตัดอ้อยรายหนึ่ง กล่าวว่า รายได้ของตนจากการตัดอ้อยเผาไฟอยู่ที่กองละ 5 บาทต่อ 60 ลำ ขณะอ้อยสดกองละ 20 บาทต่อ 100 ลำ  ด้านผลกระทบจากฝุ่นขี้เถ้าอ้อยเผา ผู้รับจ้างตัดอ้อยกล่าวว่า ไม่มีความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบเป็นพิเศษ

จากการสอบถามหนึ่งในผู้ที่อาศัยใกล้กับพื้นที่ปลูกไร่อ้อย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แถวบ้านของตนปลูกอ้อยเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเผาแต่จะตัดสดมากกว่า เนื่องจากการเผาจะทำให้น้ำหนักอ้อยน้อย ส่งผลให้ราคาอ้อยลดลง แต่บางครั้งปลูกอ้อยหลายไร่ก็จำเป็นต้องเผาก่อนตัด เพราะกลัวตัดอ้อยส่งไม่ทัน และยังต้องจ้างคนตัดจำนวนมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีพวกนายทุนที่เข้ามาปลูกอ้อยในพื้นที่ก็จะมีการเผา ซึ่งผลกระทบที่ได้รับส่วนมากมักเป็นเศษฝุ่นจากการเผาปลิวเข้าบ้าน แตไม่ได้เป็นผลกระทบร้ายแรงอะไร ส่วนตัวคิดว่าปัญหาการเผาไร่อ้อยที่มีส่วนทำให้เกิด P.M. 2.5 นั้น ไม่น่าจะเกี่ยวกันมาก เพราะแถวบ้านไม่ค่อยเผากันแล้ว

ชาวบ้าน บ้านหนองบอน ตำบลหนองบอน อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ให้สัมภาษณ์ว่า ฝุ่นละอองที่พบแถวหมู่บ้าน ส่วนใหญ่น่าจะมีสาเหตุจากมลพิษทางอากาศและท้องถนน ทั้งปัญหาฝุ่นอาจจะไม่ได้มาจากการเผาอ้อยทั้งหมด เพราะผลกระทบที่ได้รับนั้นน้อยมาก มีเพียงเศษขี้เถ้าดำ ๆ จากฝุ่นของการเผาอ้อย หากมีขี้เถ้าปลิวมาไม่มากก็พออยู่ได้ ซึ่งเมื่อก่อนมีขี้เถ้ามากเกินไป จนทำให้การใช้ชีวิตในบ้านลำบาก ต้องคอยทำความสะอาดบ่อย ๆ ความเห็นส่วนตัวคิดว่า การเผาก็ทำให้เกิดฝุ่นมลพิษทางอากาศได้ แต่โดยรวมมองว่าน่าจะเกิดจากการเผาอ้อยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเกิดการสะสม รวมถึงการใช้รถใช้ถนน จึงทำให้เกิด P.M. 2.5  นอกจากนี้ปัญหาด้านสุขภาพก็กังวลว่าแย่ลง เนื่องจากเป็นโรคภูมิแพ้ มีอาการแสบจมูกและจาม อาจต้องได้เข้าโรงพยาบาลบ่อย ส่งผลให้การใช้ชีวิตยากลำบาก อีกทั้งกลัวว่าจะเผลอสูดดมหรือกินฝุ่นขี้เถ้าเข้าไปแล้วจะเป็นอันตราย

Top